นาซามีกำหนดปล่อยภารกิจคูรี (CURIE) สู่ห้วงอวกาศในวันอังคาร (9 ก.ค.) เพื่อสำรวจต้นกำเนิดของคลื่นวิทยุจากดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนสภาพอากาศในอวกาศที่สำคัญ
อุปกรณ์ในภารกิจดังกล่าวจะถูกขนส่งโดยจรวดแอเรียน 6 (Ariane 6) ขององค์การอวกาศยุโรป จากศูนย์อวกาศเกียนาในเมืองกูรู จังหวัดเฟรนช์เกียนาของฝรั่งเศส และประจำการที่ระดับความสูง 360 ไมล์ (ราว 580 กิโลเมตร) เหนือระดับพื้นผิวโลก ภารกิจนี้จะใช้เทคนิคการรวมสัญญาณกล้องโทรทรรศน์วิทยุเพื่อศึกษาการปล่อยคลื่นวิทยุจากการปะทุของดวงอาทิตย์ อาทิ เปลวสุริยะ และการปลดปล่อยก้อนมวลสารจากโคโรนา (coronal mass ejection) ในเฮลิโอสเฟียร์ชั้นใน (inner heliosphere) ซึ่งปรากฏการณ์ข้างต้นเหล่านี้กระตุ้นสภาพอากาศในอวกาศให้เพิ่มการเกิดแสงเหนือและผลกระทบต่อสนามแม่เหล็กโลก
องค์การฯ ระบุว่าทีมงานจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์เป็นผู้ออกแบบภารกิจคูรี ซึ่งจะเป็นภารกิจแรกที่วัดคลื่นวิทยุในช่วงความถี่ 0.1-19 เมกะเฮิรตซ์จากอวกาศ เนื่องจากชั้นบรรยากาศชั้นบนของโลกปิดกั้นความยาวคลื่นเหล่านี้ จึงสามารถดำเนินการวิจัยได้จากอวกาศเท่านั้น
นาซาเผยว่าคูรีจะใช้เทคนิคที่เรียกว่าการรวมสัญญาณกล้องโทรทรรศน์วิทยุย่านความถี่ต่ำในระหว่างการวิจัยคลื่นวิทยุจากดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ยังไม่เคยใช้ในอวกาศมาก่อน โดยเทคนิคนี้ต้องอาศัยยานอวกาศอิสระสองลำ เมื่อรวมกันแล้วมีขนาดเล็กกว่ากล่องรองเท้า และจะโคจรรอบโลกห่างกันราว 2 ไมล์ (ราว 3.2 กิโลเมตร)
การแยกตัวกันนี้เอื้อให้เครื่องมือของคูรีตรวจวัดความแตกต่างแม้เพียงเล็กน้อยเมื่อเกิดการแผ่คลื่นวิทยุได้ ซึ่งช่วยให้ระบุแหล่งที่มาของคลื่นวิทยุได้อย่างชัดเจน