ก้าวไกลยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชุด “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร” รวม 3 ฉบับ เสนอเร่งรัดยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.-เพิ่มหมวดป้องกันรัฐประหาร-ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ชี้เป็นภารกิจแรกของ สว.ชุดใหม่
.
วันนี้ (25 ก.ค.67) ที่ห้องแถลงข่าวรัฐสภา พรรคก้าวไกล นำโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการลบล้างผลพวงรัฐประหารจำนวน 3 ฉบับต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา
.
นายพริษฐ์ กล่าวว่าถึงแม้รัฐบาลนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่กระบวนการในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1-2 ปี ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงเห็นว่านอกเหนือจากการผลักดันให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด รัฐสภาควรดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นที่มีความสำคัญและเร่งด่วนคู่ขนานกันไป
.
ขณะเดียวกันในสัปดาห์นี้ สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ 200 คนได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการแล้ว พรรคก้าวไกลจึงใช้จังหวะนี้ในการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราชุดแรก เพื่อให้เป็น “ภารกิจแรก” ของวุฒิสภาชุดใหม่ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้
.
นายพริษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่พรรคก้าวไกลยื่นเข้ามาเป็นชุดแรกนั้นมุ่งเน้นไปที่การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายการเมืองในสภาฯ เห็นพ้องต้องกันมากที่สุด โดยแบ่งร่างฯ ออกเป็น 3 ฉบับ ได้แก่
.
ร่างที่ 1 ยกเลิกมาตรา 279 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นมาตราที่ทำให้ประกาศและคำสั่งทุกฉบับของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหัวหน้า คสช.ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ การยกเลิกมาตรา 279 จะเปิดโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้เสียหายจากประกาศและคำสั่ง คสช. มีโอกาสได้โต้แย้งถึงความชอบด้วยกฎหมายของประกาศและคำสั่งดังกล่าว ในกรณีที่ประกาศและคำสั่งนั้นส่งผลต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
.
ทั้งนี้ นายพริษฐ์ กล่าวว่าพรรคก้าวไกลจะผลักดันเรื่องการยกเลิกมาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ คู่ขนานกับการผลักดันกฎหมายในระดับ พ.ร.บ. เพื่อดำเนินการยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.ที่ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน โดยพรรคก้าวไกลได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.เข้าสู่สภาฯ ไปแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 แต่ถูกตีความว่าเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน จึงต้องรอว่านายกรัฐมนตรีจะลงนามรับรองให้เข้าสภาฯ หรือไม่มาตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566
.
ร่างที่ 2 คือการเพิ่มหมวด 16/1 ในรัฐธรรมนูญ เรื่องการป้องกันและต่อต้านรัฐประหาร โดยมีสาระสำคัญ 3 ส่วนคือ 1. เติมพลังให้ประชาชนทุกคนในการต่อต้านการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนทั่วไป หรือการกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่วางแผนยึดอำนาจจากประชาชน 2. เพิ่มความรับผิดชอบให้ทุกสถาบันทางการเมืองร่วมกันปฏิเสธการรัฐประหาร เช่น ห้ามไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญและศาลทั้งปวงรับรองการรัฐประหาร และ 3. ทำให้การทำรัฐประหารมี “ราคา” สำหรับผู้ก่อการ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามไม่ให้มีการนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร การกำหนดให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายที่ฟ้องผู้ก่อรัฐประหารฐานกบฏได้ โดยปราศจากอายุความ และการทำให้บทบัญญัติในหมวดการป้องกันรัฐประหารทั้งหมดมีสถานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณี ที่มีผลใช้บังคับไปโดยตลอดไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะถูกฉีกหรือไม่
.
ทั้งนี้ นายพริษฐ์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลจะผลักดันเรื่องการเพิ่มหมวดป้องกันและต่อต้านรัฐประหารในรัฐธรรมนูญ คู่ขนานกับการผลักดันมาตรการอื่นๆ ที่มีส่วนสำคัญในการป้องกันรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันกฎหมายปฏิรูปกองทัพเพื่อให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน หรือการรณรงค์ทางความคิดให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในการแก้ไขทุกปัญหาผ่านกลไกทางการเมืองภายในระบอบประชาธิปไตย
.
ร่างที่ 3 คือการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ ผ่านการยกเลิกมาตรา 65 และหมวด 16 ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การยกเลิกยุทธศาสตร์และแผนดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับการที่ประเทศจะมีแผนการพัฒนาหรือแผนการบริหารประเทศ ที่กำหนดวิสัยทัศน์ว่าประเทศนั้นจะเดินหน้าไปในทิศทางใด แต่เราต้องการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศฉบับ คสช. เนื่องจากเหตุผล 3 ประการ คือ
.
1. ยุทธศาสตร์และแผนดังกล่าวขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะร่างขึ้นในยุคของคณะรัฐประหาร ซึ่งคสช.เข้ามากำกับควบคุมตลอดกระบวนการ แทนที่จะถูกร่างในยุคของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และด้วยกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในวงกว้าง 2. ยุทธศาสตร์และแผนดังกล่าวขาดความยืดหยุ่น เพราะใช้วิธีบรรจุกลไกเรื่องยุทธศาสตร์และแผนเข้าไปในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จนนำไปสู่การขยายตัวของรัฐราชการ แทนที่จะเป็นยุทธศาสตร์และแผนที่พรรคการเมืองและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาออกแบบ ตามนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศที่ได้รับอาณัติจากประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้ง และ 3. ยุทธศาสตร์และแผนดังกล่าวเสี่ยงจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกัน เพราะเปิดช่องให้บางฝ่ายสามารถใช้กลไกขององค์กรอิสระหรือศาลต่างๆ เพื่อลงโทษหน่วยงานรัฐที่อาจเป็นคู่ขัดแย้งกัน ด้วยเหตุผลว่าหน่วยงานดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญในส่วนของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ
.
นายพริษฐ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากนี้ พรรคก้าวไกลหวังว่าประธานรัฐสภาจะบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชุดแรก (รวมกัน 3 ฉบับ) เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม และเรียกประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวโดยเร็ว อีกทั้งยังหวังว่าสมาชิกรัฐสภาทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ สว.ชุดใหม่จะให้ความเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพื่อลบล้างผลพวงรัฐประหาร และเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นที่สำคัญและเร่งด่วน คู่ขนานกับการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว