“ชัยธวัช-พิธา” แถลงปิดคดียุบพรรคก้าวไกล ยกข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมาย ยืนยันศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดี-กกต.ยื่นคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยันเจตนารมณ์พรรคคือการสร้างสมดุลระหว่างประชาธิปไตย-สถาบันพระมหากษัตริย์
วานนี้ (2 ส.ค.67) ที่อาคารอนาคตใหม่ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมแถลงข่าวปิดคดียุบพรรคก้าวไกล ทั้งข้อต่อสู้ในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวมถึงหลักการและเจตนารมณ์ของพรรคก้าวไกล ในการรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
.
โดยในส่วนของนายชัยธวัช ได้แถลงถึงข้อต่อสู้ทางกฎหมายทั้ง 9 ข้อของพรรคก้าวไกล ซึ่งประกอบด้วย
.
ข้อ 1) การพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเฉพาะเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ การตีความเขตอำนาจต้องตีความอย่างเคร่งครัด ในกรณีใดที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ให้เป็นอำนาจพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลย่อมไม่มีอำนาจรับไว้ในการพิจารณาวินิจฉัยได้
.
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองไว้อย่างชัดแจ้ง พรรคก้าวไกลยืนยันว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรค 2 กำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติไปออก พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับยื่นคำร้องและเงื่อนไขการยื่นคำร้อง การพิจารณาวินิจฉัย การทำคำวินิจฉัย และการดำเนินงานของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ได้เปิดช่องให้ไปออกกฎหมายเพิ่มเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญนอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ด้วยเหตุนี้บทบัญญัติใน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไปขยายเขตอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
.
ข้อ 2) การยื่นคำร้องในคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พรรคก้าวไกลยืนยันว่าการเสนอคดีของ กกต. ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้สั่งยุบพรคก้าวไกลตามมาตรา 96 วรรค 1 (1) และ (2) ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มิชอบด้วยกฎหมาย
.
ด้วยเหตุผลคือการใช้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ไม่สามารถตีความได้ว่าการเสนอคำร้องตามมาตรา 92 เป็นกระบวนการที่แยกเป็นเอกเทศจากมาตรา 93 ได้ และหากพิจารณาเอกสารของ กกต. เองแล้วจะพบว่าเดิมก่อนที่ กกต. จะเสนอคำร้องในคดีนี้ ทั้งคณะกรรมการ กกต., เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง และสำนักงานคณะกรรมการ กกต. ก็ได้ดำเนินการตามมาตรา 93 ประกอบมาตรา 92 แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง และระเบียบ กกต. ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง 2566 มาโดยตลอด
.
แต่ปรากฏว่าในวันที่ 12 มีนาคม 2567 กกต. กลับมีมติให้ยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกลต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่นายทะเบียนพรรคการเมืองและสำนักงานคณะกรรมการ กกต. ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานตามกฎหมาย โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองเพิ่งอนุมัติในวันเดียวกันให้ขยายระยะเวลาในการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน กรณีนี้จึงแสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการ กกต. มุ่งหมายยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกลโดยไม่สนใจต่อกระบวนการขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ และละเลยไม่รอให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นเกี่ยวกับคำร้องก่อนเสนอคดี
.
ข้อ 3) การเสนอคำร้องนี้ เป็นข้อหาที่แตกต่างจากข้อหาในคดีเดิมตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 แต่ กกต. กลับไม่แสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใดๆ รวมทั้งไม่เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลได้รับทราบข้อกล่าวหาและชี้แจงโต้แย้งพยานหลักฐานในชั้นก่อนการเสนอคดีต่อศาล
.
แม้ในชั้นการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลจะรับฟังคู่ความทุกฝ่ายแล้วก็ตาม แต่การรับฟังคู่ความทุกฝ่ายของศาลก็ไม่เป็นเหตุยกเว้นที่จะทำให้การเสนอคดีที่มิชอบด้วยกฎหมายเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ไม่มีผลผูกพันในการวินิจฉัยคดีนี้
.
แม้ กกต. อ้างว่าการเสนอคำร้องยุบพรรคก้าวไกลในคดีนี้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 โดยถือว่าข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัย ทั้งไม่มีเหตุที่จะรับฟังได้เป็นอย่างอื่น แต่พรรคก้าวไกลขอยืนยันว่าเมื่อพิจารณาหลักความเป็นที่สุดของคำพิพากษา ทั้งในแง่ความเป็นที่สุดในมูลเหตุแห่งการฟ้องคดี และในข้อเท็จจริงที่วินิจฉัย ย่อมประจักษ์ชัดว่าศาลในคดีนี้ไม่อาจนำการรับฟังข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 มาผูกพันในการพิจารณาคดียุบพรรคได้
.
กล่าวคือ เมื่อพิจารณาจากหลักความเป็นที่สุดในมูลเหตุแห่งการฟ้องคดี คดีก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ไปแล้วนั้น เป็นคดีตามบทบัญญัติมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยว่าการกระทำใดเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองหรือไม่ แล้วกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้กระทำการนั้นยกเลิกการกระทำเสีย ส่วนข้ออ้างที่ กกต. อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีใหม่ คือกล่าวหาว่าพรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครอง หรือมีการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง ดังนั้น นี่จึงถือเป็นข้อหาใหม่ที่ศาลไม่เคยวินิจฉัยมาก่อน จึงไม่สามารถเอาผลแห่งคำวินิจฉัยในคดีก่อนมาผูกพันกับการพิจารณาวินิจฉัยในคดีนี้ได้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีนี้ใหม่
.
นอกจากนี้ การจะนำผลแห่งคำวินิจฉัยในคดีก่อนมาผูกพันการวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีหลังได้นั้น มาตรฐานการพิสูจน์ในคดีก่อนจะต้องเข้มข้นยิ่งกว่ามาตรฐานในคดีหลัง หรืออย่างน้อยมาตรฐานการพิสูจน์ในคดีก่อนกับคดีหลังต้องมีมาตรฐานที่เท่าเทียมแบบเดียวกัน สำหรับคดียุบพรรคต้องใช้วิธีพิจารณาและมาตรฐานการพิสูจน์ที่เข้มข้นในระดับเดียวกับที่ใช้ในคดีอาญา กล่าวคือสิทธิของผู้ถูกร้องในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีนี้ต้องได้รับการคุ้มครองในระดับเดียวกับสิทธิของจำเลยในคดีอาญา ตลอดจนมาตรฐานการพิสูจน์สำหรับการมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคได้นั้น จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานพิสูจน์จนสิ้นสงสัยตามสมควร ซึ่งสูงกว่าคดีก่อนหน้านี้
.
นอกจากนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยปกติย่อมมีผลผูกพันต่อคู่ความในคดีเป็นสำคัญ แต่ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 นั้น กกต. ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีตามคำวินิจฉัยดังกล่าว ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ผู้ถูกร้องเลิกการกระทำ คำวินิจฉัยก่อนหน้านี้จึงไม่มีผลผูกพันต่อ กกต.
.
ดังนั้น จากที่กล่าวมาทั้งหมด พรรคก้าวไกลขอยืนยันว่า กกต. ไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 เป็นข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัย ไม่มีเหตุที่จะรับฟังได้เป็นอย่างอื่น และมีผลผูกพันให้ตนเองต้องเสนอคดีต่อศาลโดยไม่จำเป็นต้องแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน รวมทั้งไม่จำเป็นต้องรับฟังผู้ถูกร้องอีกด้วย
.
ข้อ 4) นอกจากการนำเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้ว การกระทำอื่นๆ ตามคำร้องมิได้เป็นการกระทำของพรรคก้าวไกล การกระทำใดจะเป็นการกระทำของพรรคการเมืองได้ จะต้องเป็นการกระทำโดยมติของคณะกรรมการบริหารพรรค หรือเป็นการกระทำที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่าถือให้เป็นการกระทำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งถือว่าเป็นการกระทำของพรรคด้วย
.
นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงตามเอกสารพยานหลักฐานจากคดีตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ที่ถูกนำมาใช้ในการพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ ไม่เคยมีการไต่สวนพยานบุคคลที่ถูกอ้างอิงถึง และไม่ปรากฏว่าข้อเท็จจริงเหล่านั้นถูกจัดทำขึ้นโดยประจักษ์พยาน ข้อเท็จจริงตามเอกสารไม่สามารถเชื่อมโยงได้ว่าบุคคลต่างๆ ที่ได้กระทำการไปโดยมีพรรคก้าวไกลเป็นผู้สั่งการหรือบงการแต่อย่างใด อีกทั้งความเห็นตามเอกสารของเจ้าหน้าที่รัฐที่จัดทำขึ้นภายหลังเหตุการณ์ ยังไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จึงเป็นเพียงพยานบอกเล่าที่ศาลไม่อาจรับฟังได้
.
ข้อ 5) การกระทำตามที่ กกต. กล่าวหาทั้งหมด มิได้เป็นการล้มล้างการปกครอง หรือการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการระบอบการปกครอง ทั้งกรณีที่ สส.พรรคก้าวไกลเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 ไม่ได้เป็นการใช้กำลังบังคับ หรือการกระทำโดยใช้ความรุนแรง เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสิ้นสุดลง ไม่ได้เป็นการใช้อำนาจเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปเป็นระบอบการปกครองอื่น แต่เป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบทั้งจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และยังต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งก่อนและหลังกฎหมายประกาศใช้
.
นอกจากในแง่กระบวนการแล้ว ในอดีตเคยมีข้อเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 112 หลายครั้ง แต่ก็มิเคยนำไปสู่การล้มล้างการปกครองหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในระบบกฎหมายของไทยก็เคยมีการแก้ไขบทบัญญัติในฐานความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ในมาตรา 104 วรรค 2 เมื่อปี 2478 และเมื่อเปรียบเทียบกับนานาอารยะประเทศ เนื้อหาของร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 ที่ สส.พรรคก้าวไกลเคยเสนอ ก็มีลักษณะในทำนองเดียวกันกับหลายประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และกฎหมายเหล่านั้นก็ไม่ได้มีผลต่อการล้มล้างการปกครองหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองแต่อย่างไร
.
กรณีการเสนอนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ตลอดจนการนำนโยบายดังกล่าวมาใช้หาเสียง เป็นเพียงการนำเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง เพื่อประคับประคองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้มีความมั่นคงดำรงอยู่ต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้คณะกรรมการ กกต. ก็เคยใช้ดุลพินิจในการพิจารณายกคำร้องกรณีดังกล่าวที่เคยมีการร้องมาก่อนหน้านี้แล้ว โดย กกต. ก็ไม่เคยมีคำสั่งให้พรรคก้าวไกลแก้ไขเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือสั่งห้ามไม่ให้นำนโยบายนี้มาใช้หาเสียงแต่อย่างใด นอกจากนี้ เมื่อได้เห็นเอกสารหลักฐานของ กกต. ในคดีนี้ ก็พบว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงคณะที่ 2 ก็เคยมีความเห็นว่าการหาเสียงเพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขมาตรา 112 นั้น สามารถกระทำได้
.
เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็น ว่าเมื่อพิจารณาในทางภววิสัยตามความรู้สึกนึกคิดของวิญญูชนทั่วไปแล้ว หรือแม้แต่ตามความเห็นของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจเกี่ยวกับกฎหมายพรรคการเมืองโดยตรงแล้ว การกระทำของพรรคก้าวไกลในคดีนี้ มิได้เป็นการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองแต่อย่างใด
.
นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยืนยันว่า บรรดาการกระทำของสมาชิกพรรคนั้นเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นส่วนบุคคลที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย กรณี สส. พรรคก้าวไกลไปปรากฏตัวในที่ชุมนุมทางการเมืองเกี่ยวกับการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนราษฎรที่เข้าไปร่วมสังเกตการณ์ในสถานที่ต่างๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มิได้จำเป็นว่าจะต้องเห็นด้วยกับประเด็นข้อเรียกร้องในการจัดการชุมนุมและ สส. ก็ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมแต่อย่างใด
.
ส่วนกรณีการติดสติ๊กเกอร์แสดงความคิดเห็นของพิธาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566 หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้ว มีการสื่อความหมายอย่างชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 มิใช่ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นเพื่อให้ประชาชนรับทราบว่าในฐานะผู้แทนราษฎร พร้อมจะสนับสนุนให้มีการนำความคิดเห็นของประชาชนเข้าไปอภิปรายในสภาอย่างมีวุฒิภาวะ
.
กรณีที่ สส.พรรคก้าวไกล ใช้ตำแหน่งประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีตามมาตรา 112 นั้น ไม่ได้หมายความว่าผู้นั้นจะต้องเห็นด้วยหรือสนับสนุนการกระทำของผู้ต้องหาหรือจำเลย ส่วนกรณีที่มี สส.พรรคก้าวไกล ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 นั้น คดียังอยู่ในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมและยังไม่ถึงที่สุด จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ นอกจากนี้การกระทำผิดตามมาตรา 112 ต้องได้รับโทษเป็นรายบุคคล หาได้ถือว่าบุคคลและพรรคการเมืองที่บุคคลดังกล่าวเป็นสมาชิกกระทำการล้มล้างการปกครอง หรือกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองแต่อย่างใด
.
ข้อ 6) ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรยุบพรรคก้าวไกล แม้ในระบอบประชาธิปไตยของบางประเทศ การยุบพรรคการเมืองสามารถกระทำได้ แต่จำต้องเป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายในการพิทักษ์รักษาหลักการพื้นฐานและคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยตามแนวคิดประชาธิปไตยที่ปกป้องตนเองได้ แต่การยุบพรรคการเมืองต้องพึงพิจารณาอย่างเคร่งครัด ระมัดระวัง และให้ได้สัดส่วนกับความรุนแรงของพฤติการณ์ ประกอบกับต้องเป็นมาตรการสุดท้ายเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนฉับพลัน เมื่อไม่มีมาตรการอื่นที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งผลของการกระทำที่มีความร้ายแรงได้อย่างทันท่วงที ภายใต้หลักความพอสมควรแก่เหตุแล้วเท่านั้น มิเช่นนั้นมาตรการการยุบพรรคการเมืองจะกลายเป็นเครื่องมือในการทำลายหลักการพื้นฐานและคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยเสียเอง
.
แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นว่าพรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 แต่คดีดังกล่าวเป็นการพิจารณาวินิจฉัยให้ผู้ถูกร้องเลิกกระทำการดังกล่าว การให้คุณลักษณะทางกฎหมายแก่ข้อเท็จจริงแห่งคดีจึงมีความหนักเบาแตกต่างไปจากการวินิจฉัยในคดียุบพรรค ศาลย่อมต้องให้ลักษณะทางกฎหมายแก่ข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค ในลักษณะที่เป็นรูปธรรมและมีความรุนแรงได้สัดส่วน รวมทั้งจะต้องปรากฏพยานหลักฐานที่เป็นรูปธรรม มีน้ำหนักเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำที่ถูกกล่าวหามีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้โดยใกล้เคียงต่อผลถึงขนาดที่จำเป็นต้องยุบพรรค
.
ในทางข้อเท็จจริง พฤติการณ์ตามคำร้องของ กกต. มิได้เป็นการใช้กำลังบังคับเพื่อล้มล้างการปกครอง หรือมิได้เป็นการใช้อำนาจด้วยวิถีทางอื่นใดเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือรูปแบบของรัฐให้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น การกระทำของพรรคก้าวไกลจึงเป็นการกระทำที่ไม่รุนแรงในทางกฎหมายและในทางภววิสัยอันสมควรจะเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคการเมือง ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญก็ได้สั่งให้พรรคก้าวไกลเลิกการกระทำดังกล่าวไปแล้วตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 จึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องสั่งยุบพรรคอีกต่อไป
.
เมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 หรือคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ศาลรัฐธรรมนูญได้วางบรรทัดฐานไว้ว่าการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ต้องดูตามพฤติการณ์แห่งการกระทำนั้นๆ ว่าในความคิดของวิญญูชนหรือคนทั่วไป จะเห็นว่าการกระทำดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการเป็นปฏิปักษ์หรือไม่ ในประเด็นนี้ นอกจากพฤติการณ์ตามคำร้องในคดียุบพรรคก้าวไกลมิได้เป็นการล้มล้างการปกครองหรือเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองแล้ว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอย่าง กกต. นายทะเบียนพรรคการเมือง และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งมีสถานะยิ่งกว่าวิญญูชนทั่วไป ต่างก็เคยมีความเห็นมาก่อนว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 92 แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง
.
ข้อ 7) แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งยุบพรรค ก็ไม่มีอำนาจกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 97 บัญญัติรับรองไว้ การจำกัดสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองจะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น และระยะเวลาในการจำกัดสิทธิก็จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติเช่นเดียวกัน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเองเคยมีคำวินิจฉัยที่ 15/2541 ยืนยันไว้ว่าองค์กรที่จะมีอำนาจจำกัดสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ได้ จะต้องเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติโดยอาศัยวิธีการออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเท่านั้น
.
ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับปัจจุบันแม้จะบัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค เมื่อพรรคการเมืองใดกระทำการล้มล้างการปกครองหรือกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติกำหนดระยะเวลาในการจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ศาลมีคำสั่งให้ยุบพรรคเอาไว้ ดังนั้น ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ประกอบกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15/2541 ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมิใช่องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติที่มีอำนาจออกกฎหมาย จึงไม่อาจอาศัยคำวินิจฉัยของตนที่เป็นการใช้อำนาจตุลาการไปกำหนดระยะเวลาในการจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ศาลมีคำสั่งให้ยุบพรรคได้
.
ข้อ 8) การกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคต้องพอสมควรแก่เหตุ เมื่อพิจารณาจาก พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2550 ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองเพราะเหตุอันเนื่องมาจากการล้มล้างการปกครองหรือกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง กฎหมายได้บัญญัติให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นเป็นเวลา 5 ปี ดังนั้น เมื่อกรณีตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 เป็นกรณีเดียวกัน การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคก็สมควรจะกำหนดระยะเวลาในลักษณะเดียวกัน คือควรกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่เกิน 5 ปี ไม่ใช่ 10 ปีตามที่ กกต. ร้องขอ
.
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาการกระทำของพรรคก้าวไกลในทางภววิสัยแล้ว พรรคก้าวไกลหรือสมาชิกพรรคก้าวไกลมิได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการกระทำตามที่ถูกร้องเป็นการกระทำต้องห้ามตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง เนื่องจาก กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมืองได้เคยวินิจฉัยยกคำร้องข้อกล่าวหาเกี่ยวกับกรณีที่มีผู้ร้องเรียนการกระทำของพรรคก้าวไกลตามที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้มาแล้ว พรรคก้าวไกลจึงย่อมอยู่ในวิสัยที่จะเชื่อได้ว่า การใดที่กระทำขึ้นตามคำร้องในคดีนี้ย่อมชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 3/2567 แล้ว พรรคก้าวไกลก็ได้นำนโยบายหาเสียงเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 ออกจากเว็บไซต์ของพรรคโดยทันที ประกอบกับผลของการกระทำของพรรคตามคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ยังอยู่ในขั้นไกลต่อผลที่ก่อจะให้เกิดการล้มล้างการปกครอง
.
ข้อ 9) การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ต้องเพิกถอนเฉพาะของกรรมการบริหารพรรคที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ซึ่งในคดีนี้ หากพิจารณาข้อเท็จจริงก็จะพบว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลที่ กกต. ยื่นคำร้อง เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่คณะกรรมการบริหารพรรคชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ดำรงตำแหน่งอยู่เท่านั้น ดังนั้น หากศาลเห็นว่าพรรคก้าวไกลผิด เห็นว่ามีอำนาจยุบพรรค เห็นว่ามีอำนาจเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ก็ต้องเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเฉพาะบุคคลผู้เป็นกรรมการบริหารพรรคในชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ไม่ใช่รวมถึงกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีนี้
.
หลังจากนั้น นายพิธา ได้แถลงต่อถึงเจตนารมณ์ของพรรคก้าวไกล โดยระบุว่าพรรคก้าวไกลเห็นว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นการเอาองค์ประกอบ 2 ประการ คือระบอบประชาธิปไตย และสถาบันพระมหากษัตริย์มาดำรงอยู่คู่กัน กลายเป็นระบอบการเมืองที่โดยหลักการแล้วอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ขณะเดียวกันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ มีรูปแบบเป็นราชอาณาจักร โดยพระมหากษัตริย์ไม่ใช้อำนาจทางการเมืองการปกครองด้วยพระองค์เอง ดำรงความเป็นกลางทางการเมือง มีพระราชฐานะเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ผู้ใดจะละเมิดฟ้องร้องมิได้ การประสานสถาบันพระมหากษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยสามารถรักษาคุณค่าพื้นฐานของทั้งสององค์ประกอบอย่างสมดุล จึงเป็นโจทย์สำคัญของการธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
.
แน่นอนว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในแต่ละประเทศย่อมมีลักษณะไม่เหมือนกัน และไม่ได้มีลักษณะหยุดนิ่งตายตัว การจัดระเบียบสังคม การออกแบบสถาบันทางการเมือง ระบบกฎหมาย วัฒนธรรม คุณค่าพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของแต่ละประเทศย่อมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของสังคม ความพยายามทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีลักษณะหยุดนิ่ง ตายตัว พัฒนาเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ย่อมเป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองของไทย เพราะจะทำให้สูญเสียความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับสมดุลใหม่ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขทางสังคมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เสียโอกาสที่จะรักษาสิ่งเก่าและเชื่อมประสานกับสิ่งใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ระบอบประชาธิปไตย กับสถาบันพระมหากษัตริย์แปลกแยกต่อกัน
.
นายพิธากล่าวต่อไป ว่าการปกปักรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จึงไม่สามารถบรรลุได้ด้วยการใช้อำนาจกดปราบ ไม่ว่าจะด้วยกำลัง ในนามของกฎหมาย มีแต่ต้องสร้างสมดุลให้ได้สัดส่วน เหมาะสมกับยุคสมัย ระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ระบอบนี้มั่นคงยั่งยืน ด้วยความเชื่อมั่นศรัทธา และความยินยอมพร้อมใจของประชาชน
.
ทว่าหลายปีที่ผ่านมา การนำประเด็นเกี่ยวกับความจงรักภักดีมากล่าวหาโจมตีกันในทางการเมือง นำไปสนับสนุนหรือเกี่ยวพันกับการทำรัฐประหารทั้งโดยกำลังทหารและโดยกฎหมาย รวมถึงการแสดงความจงรักภักดีอย่างล้นเกินเพื่ออำพรางการแสวงหาประโยชน์ส่วนตนอย่างฉ้อฉลของคนบางกลุ่ม ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางการเมืองตามยุคสมัยได้กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาการเมืองและความรู้สึกนึกคิดแบบใหม่ที่สังคมไทยในอดีตอาจไม่คุ้นเคย
.
แต่แทนที่ผู้มีอำนาจจะตระหนักถึงความผิดพลาดในอดีตและพยายามแสวงหากุศโลบายด้วยสติปัญญาเพื่อคลี่คลายแรงตึงเครียดในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของไทย และสร้างฉันทามติใหม่ที่สอดคล้องกับยุคสมัย กลับเลือกที่จะใช้อำนาจกดทับประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการบังคับใช้มาตรา 112 ในลักษณะเข้มงวดรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
.
นายพิธา กล่าวต่อไป ว่าสืบเนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าว สส.พรรคก้าวไกล จึงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขมาตรา 112 ด้วยเจตนาที่จะฟื้นฟูสายสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างสมดุลใหม่ที่ได้สัดส่วนระหว่างการคุ้มครองพระเกียรติยศของประมุข กับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาดุลยภาพและความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย
.
“ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจะดำรงอยู่อย่างมั่นคงได้ มิใช่ด้วยการบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและหลักการคุณค่าพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ในทางตรงกันข้าม การพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จะต้องโอบรับความคิดเห็นที่ดำรงอยู่หลากหลายในสังคมอย่างมีภราดรภาพ มีการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน อันเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และมีความอดทนอดกลั้นในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย กระบวนการทางประชาธิปไตยแก้ปัญหาความแตกต่างขัดแย้งในสังคมอย่างมีวุฒิภาวะ ด้วยวิธีการเสริมสร้างประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางภายใต้ร่มพระบารมี ที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนโดยไม่แบ่งแยก จะเป็นการธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้ยืนยงสถาพรสืบไปเยี่ยงนานาอารยะประเทศ และนี่คือเจตนาอันแท้จริงของพรรคก้าวไกล” นายพิธา กล่าว