“ชัยธวัช” ปาฐกถา “ปลดล็อกวิกฤติงบประมาณ” ชี้ระบบงบฯรัฐไทยไม่เคยตอบโจทย์ประเทศ

wewy (7)-min

 

“ชัยธวัช” ปาฐกถาเวทีฝ่ายค้านพบประชาชน “ปลดล็อกวิกฤติงบประมาณ” ชี้ระบบงบประมาณรัฐไทยไม่เคยตอบโจทย์ประเทศ เน้นจัดงบตามความเคยชิน-ตอบโจทย์การเมือง ชวนคิด 5 มิติใหม่ปฏิรูปยกเครื่องระบบงบประมาณ

วันที่ 3 สิงหาคม 2567 ที่อาคารรัฐสภา พรรคร่วมฝ่ายค้านจัดกิจกรรมผู้นำฝ่ายค้านพบประชาชน “ปลดล็อกวิกฤติงบประมาณ” โดยในช่วงเช้า มีปาฐกถาพิเศษจาก นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ต่อด้วยวงเสวนาในช่วงสาย และกิจกรรมแบ่งกลุ่มอภิปรายในช่วงบ่าย ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทดลองการออกแบบงบประมาณด้วยตัวเองร่วมกัน
.
โดยในส่วนของปาฐกถาโดยผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายชัยธวัช ระบุว่าเมื่อพูดถึงเรื่องของงบประมาณ เราไม่อยากให้หมายถึงแค่การจัดสรรงบประมาณโดยรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่อยากเชิญชวนให้คิดถึงการปลดล็อกระบบงบประมาณของประเทศที่ควรมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ให้ได้เร็วที่สุดในอนาคตด้วย เวลาพูดถึงการดำเนินนโยบายสาธารณะ มีสามสิ่งที่ต้องตอบโจทย์คือ คน-กฎ-งบประมาณ บทบาทของสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวข้องโดยตรงสองเรื่อง คือเรื่องของกฎและเรื่องของงบประมาณ แม้จะนำเสนอจากฝ่ายบริหารแต่ผู้พิจารณาอนุมัติคือผู้แทนราษฎรและรัฐสภา ในฐานะสถาบันทางการเมืองที่ประชาชนเลือกเข้ามา
.
เวลาพูดถึงงบประมาณของรัฐบาล โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจถดถอย หลายคนจะนึกถึงค่าใช้จ่ายภาครัฐ (G) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรทางเศรษฐกิจสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือการพัฒนาประเทศ แต่วันนี้ตนอยากชวนให้ทุกคนมาร่วมกันคิดถึงงบประมาณของรัฐ ที่ไม่ใช่แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น แต่อยากชวนให้คิดถึงการจัดสรรงบประมาณใน 5 มิติ กล่าวคือ
.
มิติที่ 1) ความคุ้มค่า เนื่องจากงบประมาณภาครัฐมาจากภาษีประชาชน การใช้งบประมาณต้องตอบโจทย์ความคุ้มค่า แต่การจัดสรรงบประมาณที่ผ่านมามักเห็นว่ามีการจัดสรรและใช้งบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า จากสาเหตุจากอย่างน้อย 4 ประการ คือ
1. การตั้งโครงการที่ประมาณการมาเกินจริง ประมาณการต้นทุนต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งมักเกิดขึ้นในโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน ที่สุดท้ายกลายเป็นถูกใช้อย่างไม่คุ้มค่าหรือถูกปล่อยทิ้งร้าง
2. การจัดทำตัวชี้วัดในการเสนอโครงการของบประมาณต่างๆ โดยเน้นแต่ผลผลิต เช่น ตั้งโครงการอบรมสัมมนาอัพสกิล-รีสกิล โดยตั้งตัวชี้วัดว่าจะสามารถจัดได้กี่ครั้ง มีคนมาร่วมกี่คน แต่ไม่สนใจตัวชี้วัดที่เป็นผลลัพธ์ที่แท้จริง เช่น คนที่ผ่านการอบรมแล้วจะสามารถยกระดับศักยภาพเข้าสู่การจ้างงานแบบใหม่ๆ ได้กี่คน
3. ความซ้ำซ้อน เช่น นโยบายสร้างรัฐบาลดิจิทัล หรือคลาวด์เฟิร์ส ที่หน่วยราชการเร่งมาของบประมาณเพื่อติดตั้งเซิร์ฟเวอร์สร้างระบบคลาวด์ของตัวเองเต็มไปหมด แล้วรัฐบาลก็ปล่อยให้ของบประมาณแบบนี้ทุกปี ซ้ำซ้อนกลายเป็นเบี้ยหัวแตก
4. การจัดสรรงบเพื่อตอบโจทย์ทางการเมือง ซึ่งตนคงไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่าง
.
มิติที่ 2) งบประมาณเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ๆ ของประเทศ หรือระบบงบประมาณและการจัดสรรที่ควรมีส่วนช่วยทำให้ประเทศพร้อมรับมือความท้าทายใหม่และสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ประเทศไปด้วย ไม่ใช่การจัดสรรงบประมาณตามความเคยชินโดยไม่มียุทธศาสตร์ที่จับต้องได้
.
ตัวอย่างเช่น เราทราบดีว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย ที่เป็นอุตสาหกรรมเสาหลักในภาคการผลิตไทยมาไม่ต่ำกว่า 3 ทศวรรษ กำลังเผชิญความท้าทายใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและคนงาน คือการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า แต่แทนที่เราจะได้เห็นการจัดสรรงบประมาณเพื่อทำให้ภาคอุตสาหกรรมแบบเดิมพร้อมเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีใหม่ให้ทันกาล เรากลับเห็นการใช้งบประมาณเพื่ออุดหนุนการขายรถยนต์ไฟฟ้าของผู้ผลิตต่างชาติ ซึ่งแทบไม่มีส่วนสำคัญกับการจ้างงานและผู้ผลิตในประเทศเลย และยิ่งจะนำไปสู่การล่มสลายของอุตสาหกรรมในอัตราเร่งที่รวดเร็วกว่าที่ควรจะเป็น
.
อีกตัวอย่างคือการยกระดับรายได้ภาคเกษตรและผลิตภาพของภาคเกษตรไทย ซึ่งมีปัญหามากมาย ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม ต้นทุนสูง หนี้สิน การขาดเทคโนโลยี ฯลฯ แต่เรากลับไม่เห็นยุทธศาสตร์ แผน หรือกรอบงบประมาณที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา ปัจจุบันรัฐบาลเองก็ยังไม่มีความแน่นอนในทางนโยบาย ระหว่างโครงการไร่ละพันกับปุ๋ยคนละครึ่ง ซึ่งยิ่งสะท้อนตัวอย่างของการคิดแบบไม่เข้าใจชีวิตของเกษตรกร ไปสนับสนุนปุ๋ยในช่วงที่ชาวนาใช้ปุ๋ยไปแล้ว และสะท้อนปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น คือการที่ภาครัฐเคยชินกับการใช้งบประมาณเพื่ออุดหนุนภาคเกษตรในแบบที่ไม่เพิ่มแรงจูงใจและเพิ่มผลิตภาพให้เกษตรกรในระยะยาว
.
มิติที่ 3) งบประมาณในฐานะการเสริมพลังสังคม เพื่อแก้ปัญหาสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทั้งทางเศรษฐกิจและโอกาสทางเศรษฐกิจ ระบบงบประมาณที่ดีจะต้องเสริมพลังให้แก่สังคมในส่วนที่ขาดโอกาสทางเศรษฐกิจและโอกาสในการพัฒนาตนเอง ต้องใช้งบประมาณเสริมพลังอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และไม่คิดแทนประชาชนไปทุกเรื่อง แต่สิ่งที่เราพบในการจัดสรรงบประมาณทั้งในปี 2567 และ 2568 คือเราไม่เห็นงบประมาณในการเสริมพลังประชาชน ทั้งโจทย์สวัสดิการสำหรับเด็กเล็ก สวัสดิการเลี้ยงดูบุตรในภาวะที่ควรจะต้องส่งเสริมเด็กเกิดใหม่ ผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลมากขึ้นในอนาคต การอัพสกิล-รีสกิล เราพบว่ามีงบประมาณจัดสรรมาเพื่อตอบโจทย์เช่นนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือถูกใช้ในแบบที่ไม่ตอบโจทย์
.
มิติที่ 4) เสถียรภาพของการใช้งบประมาณ ด้วยการบริหารให้มีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอรองรับสถานการณ์ที่โลกปัจจุบันมีความไม่แน่นอนสูงและวิกฤติใหม่ๆ สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ อย่างเช่นโรคระบาด หรือสงคราม สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่มั่นคงในหลายประเทศมหาอำนาจ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องบริหารงบประมาณในแบบอนุรักษนิยมที่ไม่ใช้จ่ายหรือไม่กู้ยืมอะไรเลย แต่หมายความว่าระบบงบประมาณต้องมีสมดุลและพร้อมเสมอสำหรับการรับมือความท้าทายของโลก
.
มิติที่ 5) งบประมาณในฐานะการสร้างประชาธิปไตย ไม่ใช่เพื่อระบบอุปถัมภ์ ซึ่งที่ผ่านมาการใช้งบประมาณหลายครั้งได้นำไปสู่การอุปถัมภ์ระหว่างรัฐมนตรี-สส. หรือฝ่ายการเมือง-ข้าราชการประจำ หรือการใช้งบเพื่อสร้างฐานทางการเมืองในพื้นที่ หรือที่เรียกกันว่า “บ้านใหญ่” ซึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมาเราได้ทดลองตรวจสอบงบประมาณหลายส่วน เช่น ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ว่าถูกจัดสรรไปที่ไหนบ้าง ก็พบเห็นรูปแบบที่คล้ายกันคือการกระจุกตัวอย่างไม่ได้สัดส่วนและสมเหตุสมผล เพียงเพื่อตอบโจทย์การอุปถัมภ์ทางการเมืองในลักษณะนี้
.
นายชัยธวัช กล่าวต่อไป ว่าการจัดเวทีในวันนี้ ก็เพื่อการฉายภาพให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการจัดสรรงบประมาณเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะในวงเสวนาแยกทั้ง 4 วง ที่มี สส. ในคณะกรรมาธิการงบประมาณ มาร่วมให้ผู้เข้าร่วมในวันนี้ได้ทดลองออกแบบ เห็นภาพการจัดทำงบประมาณทั้งในแบบที่ผ่านมาและในแบบที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
.
“เวทีวันนี้ไม่ใช่แค่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่อยากชี้ชวนให้คิดไปไกลถึงอนาคตว่าเรามีความจำเป็นยกเครื่องการจัดสรรงบประมาณอย่างไร ด้วยความเชื่อว่าการมีส่วนร่วมของประชาชน การทำหน้าที่อย่างเต็มที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การกระจายอำนาจและงบประมาณไปสู่ประชาชนและท้องถิ่นในอนาคต จะทำให้ประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาของเราตอบโจทย์สังคมและประชาชนมากขึ้นได้อย่างไร” นายชัยธวัช กล่าว

 

ประเภท : การเมือง
แท็ก