ภาพยนตร์ไทยเรื่อง “หลานม่า” เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วแผ่นดินใหญ่ของจีน เฉินเย่ว์ ชาวเมืองหนานหนิง เปิดเผยความรู้สึกหลังชมภาพยนตร์จบ ว่ารูปแบบการเล่าเรื่องที่สงบและอบอุ่น ผ่านเรื่องราวที่ดำเนินไป ทำให้ตนหวนนึกถึงความทรงจำที่มีกับครอบครัว พร้อมกล่าวว่ารูปแบบการเล่าเรื่องนั้นชวนให้น้ำตาคลอ การตีแผ่ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และการนำเสนอประเด็นทางสังคมอย่างแยบคายก็ชวนให้ผู้ชมขบคิดตาม “หลานม่า” ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ครองแชมป์การจำหน่ายบัตรชมภาพยนตร์ หรือบ็อกซ์ออฟฟิศ (box office) ของไทยประจำปีนี้ กวาดรายได้จากการจำหน่ายบัตรชมภาพยนตร์ทะลุ 300 ล้านบาท หลังเข้าฉายในไทยเมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา ต่อมา ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้าฉายในออสเตรเลีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ โดยได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลามจากผู้ชมในต่างประเทศ
หลังจากภาพยนตร์เรื่อง “หลานม่า” เข้าฉายในแผ่นดินใหญ่ เว็บไซต์โต้วป้าน (Douban) แหล่งรวมรีวิวและคำวิจารณ์ภาพยนตร์สัญชาติจีน ให้คะแนนภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้สูงถึง 9.0 ถือเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่มีคะแนนสูงที่สุดในปัจจุบัน ประเด็นจริยธรรมในความสัมพันธ์ของสมาชิกครอบครัวในเรื่องหลานม่า เป็นที่พูดถึงอย่างมากบนสื่อสังคมออนไลน์ของจีน และจวบจนวันอาทิตย์ (25 ส.ค.) ที่ผ่านมา “หลานม่า” กวาดรายได้จากการจำหน่ายบัตรชมภาพยนตร์ในแผ่นดินใหญ่ทะลุ 30 ล้านหยวน (ราว 150 ล้านบาท) แล้วเรียบร้อย
ชาวเน็ตจีนรายหนึ่งได้เขียนแสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์โต้วป้าน ว่าในวัฒนธรรมของชาวเอเชียตะวันออก ครอบครัวถือเป็นหนึ่งเดียวกัน และความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวเน้นย้ำถึงคุณค่าของครอบครัว รวมไปถึงความกตัญญูกตเวที และการเคารพผู้อาวุโส ซึ่ง “หลานม่า” ได้ชวนให้ผู้ชมได้ขบคิดถึงประเด็นทางสังคมหลายด้าน เช่น การเลี้ยงดูลูก การดูแลบุพการี และสภาวะ “นอนราบ” ของคนหนุ่มสาว ผ่านภาพของครอบครัวชาวเอเชียตะวันออกที่ยึดถือคุณค่าเรื่องครอบครัวและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน อันช่วยเพิ่มมิติที่ลึกซึ้งให้กับภาพยนตร์ และกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงเป็นวงกว้างไปพร้อมๆ กับการสร้างอารมณ์ร่วมในหมู่ผู้ชม
พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ให้สัมภาษณ์ว่าทีมงานพยายามสอดแทรกกลิ่นอายของครอบครัวเอเชียตะวันออกเข้าไปในภาพยนตร์ นำเสนอความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์อันละเอียดอ่อนระหว่างผู้คน เพื่อทำให้แต่ละตัวละครมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็นเหตุผลว่า “ทำไมผู้ชมจึงหวนนึกถึงคนที่พวกเขารัก”
นอกเหนือจากอารมณ์ของภาพยนตร์ที่ชวนให้ซึ้งกินใจแล้ว ภูมิหลังที่เกี่ยวกับชาวจีนโพ้นทะเลจากแต้จิ๋วและองค์ประกอบทางวัฒนธรรมในพิธีศพของชาวจีนตอนใต้ที่ปรากฏในภาพยนตร์ ยังทำให้ผู้ชมชาวจีนรู้สึกเข้าถึงและคุ้นเคย ทั้งยังสื่อให้เห็นถึงการเคารพและการสืบสานอารยธรรมตะวันออก
เซี่ยงอวี๋ มัคคุเทศก์ชาวจีนในไทย กล่าวว่าตัวละครอาม่าในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว พูดภาษาแต้จิ๋วได้ และชอบดูงิ้ว ในหนังยังมีการใส่เพลงกล่อมเด็กภาษาแต้จิ๋ว รวมถึงประเพณีการปัดกวาดสุสานในช่วงเทศกาลเชงเม้งเข้าไปด้วย สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันชิดใกล้ระหว่างวัฒนธรรมจีนกับไทย ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการรักษาขนบธรรมเนียมและค่านิยมดั้งเดิมของชาวจีนโพ้นทะเลในต่างประเทศ ไปพร้อมๆ กับการสร้างอัตลักษณ์ของตนเองในขณะปรับตัวเข้ากับสังคมท้องถิ่น
หลายปีมานี้ ผลงานภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ของจีนและไทยมีบทบาทในการสานสัมพันธ์ของประชาชนสองประเทศ การเผยแพร่ผลงานเหล่านี้ในต่างประเทศได้สร้างคุณูปการต่อการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ยกตัวอย่างจากภาพยนตร์ไทยเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” ที่เข้าฉายในจีนเมื่อปี 2017 ได้กวาดรายได้จากการจำหน่ายบัตรชมภาพยนตร์ไปกว่า 1.35 พันล้านบาท นอกจากนี้ ภาพยนตร์และละครไทยยังมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เสื้อผ้า ขนม ผลไม้ ฯลฯ
เหลยเสี่ยวหัว นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สังกัดสถาบันสังคมศาสตร์เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง กล่าวว่าไม่กี่ปีมานี้ การแลกเปลี่ยนและความร่วมมือใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างจีน-ไทย อันรวมถึงการเผยแพร่ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ ได้ช่วยส่งเสริมการพูดคุยข้ามวัฒนธรรม และกระตุ้นศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ