พรรคประชาชนเสนอญัตติด่วน หารือแนวทางบริหารจัดการน้ำ-แจ้งเตือนภัยทั้งระบบ ชงจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยแห่งชาติ “เท้ง ณัฐพงษ์” ชี้ 5 ประเด็น หวัง ครม. ชุดใหม่แถลงนโยบาย ชัดเจนแผนรับมือภัยพิบัติของประเทศ
.
วานนี้ (29 ส.ค.67) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาหาแนวทางในการรับมือเผชิญเหตุ และมาตรการในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติและสถานการณ์อุทกภัยในประเทศ ตลอดจนการศึกษาหาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำและแจ้งเตือนภัยทั้งระบบเพื่อรับมือกับเหตุภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อส่งข้อเสนอแนะให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป
.
นายฐพงษ์ กล่าวว่า หน้าที่ของผู้แทนราษฎรนอกจากการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน คือการเป็นปากเสียง สะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในสภาฯ วันนี้ สส. พรรคประชาชนจะนำเสียงสะท้อนเหล่านั้น ทั้งปัญหาเชิงพื้นที่ตามลุ่มน้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำภาคเหนือ ลุ่มน้ำภาคกลาง จนถึงปัญหาน้ำทะเลหนุนบริเวณอ่าวไทย และปัญหาเชิงประเด็น มาสะท้อนโดยมีข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการน้ำทั้งระบบส่งต่อให้ ครม. แม้ตอนนี้จะเป็น ครม.รักษาการ แต่เชื่อว่า ครม. ที่จะมาแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้ จะรับข้อเสนอเหล่านี้ไปบรรจุเป็นนโยบาย
.
จากการที่ตนลงพื้นที่ จ.เชียงราย เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่ อ.เวียงแก่น, อ.ขุนตาล และ อ.เทิง เพียงจังหวัดเดียวพบว่ารายละเอียดของปัญหาแตกต่างกัน ที่เวียงแก่นเกิดจากน้ำป่า แต่ที่ อ.ขุนตาล และ อ.เทิง เป็นพื้นที่ตรงกลางระหว่างกว๊านพะเยาที่รับน้ำมาจากลุ่มน้ำอิงไหลออกสู่แม่น้ำโขง ประชาชนหลายคนสะท้อนว่าเกิดมา 70-80 ปี ไม่เคยท่วมหนักขนาดนี้มาก่อน
.
ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเชียงรายอยู่ตรงกลาง น้ำจากแม่อิงก็สูง น้ำโขงก็สูง ทำให้เชียงรายท่วมสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งปัญหานี้เกี่ยวข้องกับโครงการสร้างเขื่อนปากแบงซึ่งอยู่นอกพื้นที่ประเทศไทย เราจึงจำเป็นต้องมีเวทีในการจัดการลุ่มน้ำโขง ที่วันนี้ตนเชื่อว่ายังไม่มีการเจรจาหารือกับประเทศจีนอย่างเต็มที่เพราะจีนยังไม่ได้เป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
.
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า สส.พรรคประชาชน ยังจะอภิปรายถึงแม่น้ำโขงตอนล่าง เป็นอีกพื้นที่ในบริเวณภาคอีสานที่ต้องจัดการอีกแบบ, การจัดการลุ่มน้ำภาคเหนือ ปิง วัง ยม น่าน, การจัดการลุ่มน้ำภาคกลาง ไม่ว่าจะเป็นลุ่มน้ำท่าจีน ทุ่งรับน้ำบางบาล รวมถึงการรับมือปัญหาน้ำทะเลหนุน การทดน้ำที่บึงบอระเพ็ด และการจัดการพื้นที่นอกแนวเขตกั้นน้ำ
.
ขณะเดียวกัน เรายังมีผู้แทนราษฎรที่ติดตามปัญหาเชิงประเด็นมาตลอด เช่น ปัญหาการแจ้งเตือนภัย ข้อเสนอเกี่ยวกับศูนย์บริหารจัดการหรือวอร์รูมในการรับมือภัยพิบัติ ระบบเซนเซอร์ IoT ระบบโทรมาตร ถ้าเราสามารถบูรณาการระบบต่างๆ นี้เข้าด้วยกันทั้งภาครัฐและเอกชน จะสามารถจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยแห่งชาติได้ หรือปัญหาดินถล่มที่ จ.ภูเก็ต กลไกของรัฐมีแล้ว เครื่องไม้เครื่องมือในการเฝ้าระวังมีแล้ว แต่ทำไมเวลาเกิดเหตุจริงถึงใช้การไม่ได้
.
สส.พรรคประชาชน จะอภิปรายให้เห็นด้วยว่าปัจจุบันแผนเผชิญเหตุมีทั่วถึงทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว แต่แผนไม่เคยถูกซักซ้อม พอเกิดเหตุขึ้นจริงจึงรับมือไม่ได้ ขณะเดียวกันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นวันนี้ยังขาดแคลนงบประมาณ ขาดแคลนบุคลากร ขาดแคลนอำนาจในการแก้ไขปัญหารับมือภัยพิบัติให้ประชาชน
.
หัวหน้าพรรคประชาชนกล่าวว่า การอภิปรายวันนี้ ตนสรุปออกมาเป็น 5 หัวข้อสำคัญ คิดว่า ครม. รักษาการชุดนี้และชุดต่อไป จะต้องจริงจังกับการแก้ไขปัญหาทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว ข้อแรก คือการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุที่มีอยู่แล้วแต่ไม่เคยถูกซักซ้อม เวลา 2 เดือนต่อจากนี้ที่ยังอยู่ในหน้าน้ำ มีโอกาสที่ฝนจะตกหนักไหลทะลักเข้าสู่ภาคกลางมากขึ้น ทำอย่างไรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศได้ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ถึงเวลาเมื่อภัยพิบัติมาถึง จะพร้อมลงมือปฏิบัติทันที
.
ข้อสอง รัฐบาลต้องมีความชัดเจนในมาตรการการเยียวยา แน่นอนว่าต้องมีบางพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำ จะทำอย่างไรให้มาตรการเยียวยามีความชัดเจน ประชาชนได้รับการชดเชยเยียวยาทันทีและทั่วถึง ข้อสาม คือการวางแผน ทำอย่างไรให้เรามองเห็นระบบการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ จากโขงสู่ภาคเหนือ ภาคกลาง ก่อนไหลออกสู่อ่าวไทย
.
ข้อที่สี่ คือเวทีในการเจรจา เรื่องลุ่มน้ำโขงไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะประเทศไทย แต่เป็นปัญหาที่เราต้องใช้เวทีเจรจานานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ที่วันนี้เราอาจยังไม่ได้คุยกับเขามากเพียงพอ และสุดท้ายคือการบูรณาการข้อมูลภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยแห่งชาติ
.
นายณัฐพงษ์ ทิ้งท้ายว่า สุดท้ายขณะนี้อยู่ในช่วงการรักษาการของคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน แต่ตนคาดหวังและอยากเห็นเป็นอย่างยิ่งว่าการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จะมีความชัดเจนในแผนการรับมือภัยพิบัติของประเทศในอนาคต