สำนักข่าวซินหัว รายงานจีนก้าวสู่ยุคแห่งการเกษตรพลังปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) ซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่การเกษตรแบบดั้งเดิม ท่ามกลางการพัฒนาอันรวดเร็วของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีตัวอย่างโดดเด่นอย่างฐานเพาะพันธุ์ไก่ซิลกีที่หมู่บ้านเทียนไถซาน เมืองชื่อสุ่ย มณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ที่ซึ่งเล้าไก่ถูกติดตั้งกล้องวงจรปิดแบบเรียลไทม์ และไก่แต่ละตัวถูกติดอุปกรณ์ขนาดเล็กจิ๋วที่ขา
เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยให้ผู้เพาะเลี้ยงสามารถติดตามจำนวนก้าวที่ไก่เดินในแต่ละวันและจำแนกไก่ตัวที่เจ็บป่วย ส่วนเซนเซอร์ที่ติดอยู่ตามรั้วของเล้าไก่สามารถตรวจจับภัยคุกคามจากเหล่าสัตว์นักล่าและความเสียหายของโครงสร้างที่อาจเกิดขึ้น โดยสวีฉีหย่ง ผู้จัดการฐานเพาะพันธุ์แห่งนี้ เผยว่าไก่ซิลกีที่แข็งแรงดีมักเดินวันละ 10,000-20,000 ก้าว ถ้าระบบตรวจพบไก่เดินน้อยกว่า 1,000 ก้าว จะส่งสัญญาณความเป็นไปได้ว่าไก่ป่วยและเจ้าหน้าที่จะเข้าดูแลทันที
ทั้งนี้ ปัญญาประดิษฐ์นั้นช่วยส่งเสริมการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ด้วยความแม่นยำด้านข้อมูลและประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นในกุ้ยโจว ที่ซึ่งร้อยละ 92.5 ของผืนดินเป็นภูเขาหรือเนินเขา
เมื่อเดือนเมษายน 2023 ทีมงานของเท็นเซนต์ คลาวด์ (Tencent Cloud) และเท็นเซนต์ คลาส (Tencent Class) ของมหาวิทยาลัยเซินเจิ้น ร่วมประยุกต์ใช้ระบบเพาะพันธุ์ไก่ซิลกีแบบอัจฉริยะที่ฐานเพาะพันธุ์แห่งนี้ ซึ่งถือเป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และแพลตฟอร์มคลาวด์ โดยทีมงานได้ช่วยบรรเทาปัญหาต่างๆ เช่น การควบคุมโรคและการบุกรุกของสัตว์ป่า ส่งผลให้ผลิตภาพของฐานเพาะพันธุ์แห่งนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ภายในระยะเวลาอันสั้น
นอกจากนั้นเท็นเซนต์ คลาวด์ และเท็นเซนต์ คลาส ของมหาวิทยาลัยเซินเจิ้น ยังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกุ้ยโจวและสถาบันอื่นๆ เพื่อพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมสัตว์ปีก
ระบบที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์นี้จะเป็นผู้ช่วยเสมือนจริงที่ช่วยเกษตรกรรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่ต้องเผชิญระหว่างการเพาะพันธุ์ไก่ซิลกี โดยสวี กำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมบรรดาเกษตรกรปรับใช้แนวทางเพาะเลี้ยงไก่ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์กันมากขึ้น หลังจากฐานเพาะพันธุ์แห่งนี้จำหน่ายไก่ซิลกี 1 แสนตัว และไข่ 3 แสนฟองแล้ว เมื่อนับตั้งแต่ปี 2023 และอุปสงค์ยังคงสูงเกินอุปทาน
การเปลี่ยนแปลงจากการเกษตรแบบดั้งเดิมที่อาศัยประสบการณ์สู่วิธีการที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลในการเพาะเลี้ยงสัตว์ปีกเป็นเพียงหนึ่งในหลายตัวอย่าง เพราะที่ตำบลเฉ่าไห่ของกุ้ยโจว บริษัท จงเคิ่น โปเตโต อินดัสทรี จำกัด ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม “5จี + การเกษตรดิจิทัล” เพื่อสร้างความเป็นดิจิทัลแก่กระบวนการเพาะปลูกมันฝรั่งแบบอัตโนมัติ โดยบริษัทฯ สามารถเฝ้าติดตามระดับอุณหภูมิและความชื้นในโรงเรือนกระจกของฐานเพาะปลูกมันฝรั่งแบบเรียลไทม์ พร้อมควบคุมระบบชลประทานแบบอัตโนมัติ
นอกจากนั้นเซนเซอร์อินฟราเรดที่ฐานเพาะปลูกมันฝรั่งของบริษัทฯ ยังสามารถตรวจจับการระบาดของศัตรูพืชที่อาจเกิดขึ้นได้ ลดทอนความเสี่ยงพืชผลเสียหายเป็นจำนวนมาก และรับประกันการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องของต้นกล้าในสภาพแวดล้อมที่อยู่ภายใต้การควบคุม โดยหลี่รื่ออวี้ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทฯ เผยว่ามีการจัดตั้งศูนย์เพาะพันธุ์เมล็ดพันธุ์มันฝรั่งคุณภาพดีเยี่ยม ซึ่งให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 2-3 ตัน ต่อหมู่ (ราว 0.4 ไร่) เมื่อเทียบกับผลผลิตมากสุด 1 ตัน ต่อหมู่ในอดีต