“เรืองไกร” จี้สอบนายกฯ เข้าข่ายไม่ซื่อสัตย์สุจริต ปมตั้ง สมศักดิ์-ทวี นั่งรัฐมนตรี

ja(14)

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีเสนอชื่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และเสนอชื่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 หรือไม่ รวมถึงเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ และ พ.ต.อ.ทวี สิ้นสุดลงหรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวว่า หลังจากศึกษารายงานผลการตรวจสอบของ กสม. พบว่ามีเหตุอันควรขอให้ กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ดังต่อไปนี้

1. ด้วยเว็บไซต์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบ ที่ 221/2567 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 เรื่อง การเลือกปฏิบัติและสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีร้องเรียนว่านายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ความละเอียดนายกรัฐมนตรีควรทราบแล้วนั้น

2. รายงานผลการตรวจสอบ ระบุไว้ว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีตามคำร้องนี้ นอกจากจะมีสาเหตุเกิดจากการกระทำหรือละเลยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐแล้วยังมีสาเหตุจากกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ที่กำหนดห้ามผู้ต้องขังเข้าอยู่ในห้องพักพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังจัดให้

ซึ่งเปิดโอกาสให้สถานที่รักษาใช้ดุลพินิจโดยขาดการพิจารณาจากเรือนจำที่ส่งตัวผู้ต้องขังออกไป และในส่วนที่เกี่ยวกับกรณีที่ผู้ต้องขังรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นเวลานานเกิน 30 วัน 60 วัน และ 120 วันแต่ให้ผู้บัญชาการเรือนจำขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์และรายงายปลัดกระทรวงยุติธรรมหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแล้วแต่กรณีเพื่อทราบเท่านั้น ย่อมก่อให้เกิดภาวการณ์ ตรวจสอบถ่วงดุลและนำไปสู่การใช้อำนาจในทางที่ผิดได้ จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งในกรณีดังกล่าวต่อไป

3. รายงานผลการตรวจสอบระบุไว้ว่า ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนให้กระทรวงยุติธรรมแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ดังนี้

1) แก้ไขข้อ 5 (2) ที่กำหนดห้ามผู้ต้องขังเข้าอยู่ในห้องพักพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังจัดให้ โดยควรกำหนดว่า“ในกรณีสถานที่รักษาผู้ต้องขังมีความจำเป็นต้องให้ผู้ต้องขังพักรักษาในห้องพิเศษหรือห้องอื่นนอกเหนือจากห้องปกติ ต้องได้รับความเห็นชอบจากเรือนจำและกรมราชทัณฑ์เสียก่อน

เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่หากไม่ดำเนินการทันทีจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ต้องขังนั้น ให้ดำเนินการไปก่อนแล้วรีบขอความเห็นชอบ โดยต้องระบุเหตุผลความจำเป็นประกอบการขอความเห็นชอบนั้นด้วย 2) แก้ไขข้อ 7 ในส่วนที่เกี่ยวกับกรณีที่ผู้ต้องขังรักษาตัวนอกเรือนจำเป็นเวลานาน ให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแล้วแต่กรณี ต้องให้อำนาจในการพิจารณา ความเห็นของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ประกอบความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษา มิใช่เพียงรับทราบ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจในการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ต้องขังรายหนึ่งรายใดได้ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำโดยไม่มีเหตุอันควร

4. กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ให้ไว้ ณ วันที่ 25 กันยายน 2563 โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7วรรคหนึ่ง และมาตรา 55 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการราชทัณฑ์

5. พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 7 บัญญัติว่า มาตรา 7 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงระเบียบ และประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

6. ดังนั้น กรณีตามรายงานผลการตรวจสอบของ กสม. ที่ 221/2567 วันที่ 30 ก.ค. 2567 จึงอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 2 คนคือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ซึ่งต่อมาทั้งสองคนยังคงได้รับการเสนอชื่อให้เป็นรัฐมนตรีโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

7. หากพิจารณาตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2567 เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 ย่อมจะทำให้เห็นได้ว่านายกฯ จะต้องรู้หรือควรรู้ตามรายงานผลการตรวจสอบของ กสม. ที่ 221/2567 วันที่ 30 ก.ค. 2567 อยู่แล้วว่า กฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 มีการออกมาเพื่อการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ต้องขังรายหนึ่งรายใดได้ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำโดยไม่มีเหตุอันควร และเป็นช่องว่างให้ผู้ต้องขังรักษาอาการป่วยนอกเรือนจำได้เป็นระยะเวลานานเกินไปโดยไม่มีการตรวจสอบ

อีกทั้งการที่ผู้ต้องขังรักษาตัวเกิน 60 วัน และ 120 วัน แต่ให้ผู้บัญชาการเรือนจำขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์และรายงานปลัดกระทรวงยุติธรรมหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแล้วแต่กรณีเพื่อทราบเท่านั้น ย่อมก่อให้เกิดภาวการณ์ตรวจสอบถ่วงดุลและนำไปสู่การใช้อำนาจในทางที่ผิดได้

8. กรณีที่นายกฯ รวมทั้งบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องรู้หรือควรรู้ว่ามีรายงานผลการตรวจสอบของ กสม. ที่ 221/2567 วันที่ 30 ก.ค. 2567 ออกมาแล้ว แต่ไม่นำมาประกอบการพิจารณาแต่งตั้งรัฐมนตรี จึงอาจทำให้นายกฯรวมทั้ง นายสมศักดิ์ และ พ.ต.อ.ทวี มีหรือเคยมีพฤติการณ์ที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 ที่กำหนดว่า “ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเอง หรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” ดังนั้น กกต. จึงควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 170

 

ประเภท : การเมือง
แท็ก