รองนายกฯ “ประเสริฐ” ประชุมบอร์ด สสส. นัดแรก เห็นชอบแผนปี 68 มอบนโยบายเคลื่อนสุขภาพ 4 ด้าน “อายุคาดเฉลี่ย-ออกกำลังกาย-ยาเสพติด-ภัยออนไลน์” เล็งใช้ AI สร้างเสริมสุขภาพ ลดภัยออนไลน์ หลังพบถูกลวงกว่า 36 ล้านคน
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานกรรมการกองทุน สสส. กล่าวในการประชุมกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 6/2567 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนการดำเนินงานประจำปี 2568 โดยให้ยึดทิศทางและเป้าหมายกองทุนระยะ 10 ปี (2565-2574) เน้นสร้างและขยายผลลัพธ์ทางสุขภาพอย่างทั่วถึงและยั่งยืน สนับสนุนการพัฒนาและใช้ประโยชน์ข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพและปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพอุบัติใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ส่วนวาระกลาง เน้นการบูรณาการ “การลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ” เป็นการขยายผลการทำงานจากปี 2567
“ผมอยากให้ สสส. เน้น 4 ประเด็น คือ 1.เพิ่มอายุคาดเฉลี่ยของคนไทย โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เป็นสาเหตุการตายของคนวัยหนุ่มสาว 2.เพิ่มสัดส่วนการมีกิจกรรมทางกาย 3.ลดปัญหาและผลกระทบจากยาเสพติด และ 4.สร้างภูมิคุ้มกันป้องกันภัยออนไลน์ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซนเตอร์ ที่คนไทยถูกหลอกจำนวนมาก มูลค่าความสูญเสียมากกว่า 100 ล้านบาทต่อวัน กระทบต่อสุขภาพจิตบางรายถึงขั้นคิดสั้นฆ่าตัวตาย ในอนาคตอาจมีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างกระทรวงดีอี และ สสส. เพื่อร่วมกันจัดการภัยออนไลน์ รวมถึงปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังคุกคามเยาวชน และนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI พัฒนาแพลตฟอร์มให้เข้าถึงง่าย เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพในประชากรทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึงสุขภาพที่เท่าเทียม” นายประเสริฐ กล่าว
นายประเสริฐ กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบการดำเนินงานแผนระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา ที่ สสส.ขับเคลื่อนงาน ในปี 2566 มีคนไทยที่ถูกหลอกลวงออนไลน์กว่า 36 ล้านคน ตกเป็นผู้เสียหาย 18.37 ล้านคน มูลค่าความเสียหาย 49,845 ล้านบาท ผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อหลอกลวงเพิ่มขึ้น สสส.ได้สร้างเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาวะกลไกเฝ้าระวังตรวจสอบสื่อ เป็นเครือข่ายที่มีการเชื่อมโยงเป็นระบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามเครือข่ายสร้างการเปลี่ยนแปลงใน 87 พื้นที่ และเครือข่ายกลุ่ม Influencer ร่วมสื่อสารประเด็นสุขภาวะ 2.5 ล้านวิว พัฒนาทักษะเท่ากันสื่อในประชาชนทุกกลุ่มวัย สร้างค่านิยมในการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะ สร้างพื้นที่ในการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญา และสื่อสารสร้างวาระทางสังคมเพื่อจิตสำนึกใหม่ แต่การจะป้องกันแก้ไขเรื่องนี้ ต้องผลักดันกฎหมายควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์