เวทีอาเซียนวันที่ 2 สมาชิกอาเซียนจับมือจีนร่วมกันพัฒนาเพื่อประชาชนระหว่างกัน ด้านนายกฯ แพทองธาร ย้ำความสัมพันธ์ อาเซียนจีนเป็นรากฐานสำคัญในภูมิภาค
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน – จีน ครั้งที่ 27 ซึ่งมีนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนเข้าร่วมด้วย โดยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้ การประชุมวันที่ 2 นี้ ในช่วงเช้า เป็นการประชุมผู้นำอาเซียน กับ นายกรัฐมนตรีของจีน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ความสัมพันธ์อาเซียน – จีน เป็นรากฐานสำคัญของสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ซึ่งยังมีศักยภาพอีกมากที่จะพัฒนาร่วมกันในการสร้างประโยชน์ร่วมกันระหว่างสมาชิกอาเซียนกับ จีน ผ่านการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน เพื่อความสันติภาพ ความมั่นคง ความเจริญรุ่งเรือง การพัฒนาที่ยั่งยืน และมิตรภาพ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด “บ้าน 5 หลัง” (Five-Homes) ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำความร่วมมือที่ให้ความสำคัญ 3 ประการ ดังนี้
1. การบูรณาการทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยง (Economic integration and connectivity) นั้นประเทศไทย ยินดีต่อความสำเร็จของการเจรจายกระดับ FTA อาเซียน-จีน 3.0 ซึ่งอาเซียนและจีนควรใช้ประโยชน์จาก RCEP ซึ่งประเทศไทยสนับสนุนการรวบรวมสมาชิกใหม่ที่รวมไปถึงเขตบริหารพิเศษฮ่องกงด้วย
ทั้งนี้ การจะบรรลุการเติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้น ต้องมุ่งเน้นการบูรณาการห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว โดยจะต้องส่งเสริมความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงทางดิจิทัล เทคโนโลยี AI และเกษตรอัจฉริยะ
2. ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน (People-to-people relations) ประเทศไทยยินดีต่อความสำเร็จในปีนี้ซึ่งเป็นปีแห่งความร่วมมืออาเซียน – จีนว่าด้วยการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน (ASEAN-China Year of People-to-People Exchanges) ซึ่งต้องเสริมสร้างความเข้าใจ ความรักความสามัคคีของประชาชนในประชาคม อาเซียน กว่า 700 ล้านคนโดยจะดำเนินมาตรการยกเว้นวีซ่า อย่างต่อเนื่อง เพิ่มจำนวนเที่ยวบิน และขยายโอกาสในการรับทุนการศึกษา
3. ด้านความร่วมมือด้านความมั่นคง (Security cooperation) ควรเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าในการจัดการกับประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์และยาเสพติด และการหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งประเทศไทยยินดีต่อการมีส่วนร่วมของจีนในความพยายามของอาเซียนที่จะจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาหมอกควันข้ามแดนและภัยพิบัติทางธรรมชาติ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาของเราขึ้นอยู่กับสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค สถานการณ์ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้เป็นสาเหตุของความกังวลร่วมกันซึ่งจุดยืนตามหลักการของประเทศไทยคือ การยุติข้อพิพาทอย่างสันติผ่านการทูต การเจรจา และตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (UNCLOS) โดยต้องดำเนินความร่วมมือแบบ win-win อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่น”
สำหรับสถานการณ์ในเมียนมานั้น ประเทศไทยยืนยันความมุ่งมั่นต่อฉันทามติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus) เพื่อช่วยเมียนมาหาทางออกอย่างสันติที่นำโดยเมียนมาและเป็นของเมียนมาเอง ซึ่งไทยชื่นชมบทบาทที่แข็งขันของประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา รวมถึงจีนในการมุ่งสู่เป้าหมายนี้