กทม. เข้มมาตรการคุมวัณโรค เร่งตรวจเชิงรุกคนไร้บ้าน-ชุมชนแออัด หวังลดผู้ป่วย 80% ภายใน 10 ปี
น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมวัณโรคของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2567 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย กรมควบคุมโรค กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมประชุม
ที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์วัณโรคของประเทศไทย วัณโรคถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยและของโลก ประเทศไทยมีความพยายามที่จะลดวัณโรคลงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยตั้งเป้าและคาดหวังว่า 10 ปีต่อจากนี้จะต้องลดวัณโรคลงให้ได้ 80 – 90% ขณะนี้ WHO คาดการณ์ว่าในประเทศไทยเรามีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณปีละ 113,000 ราย ในตัวเลขนี้สามารถค้นหาผู้ป่วยได้ปีละประมาณ 80,000 ราย ทั้งนี้ ประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการระดับชาติ ด้านการต่อต้านวัณโรค ระยะที่ 2 พ.ศ. 2566 -2570 โดยมีเป้าประสงค์หลักเพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดวัณโรค ซึ่งมีมาตรการที่ครอบคลุมทั้งการค้นหา การรักษา การวินิจฉัย และการป้องกัน
ด้านสถานการณ์โรควัณโรคในกรุงเทพมหานคร ปี 2567 มีจำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น 8,837 ราย สัดส่วนเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ในส่วนการดำเนินงานเพื่อยุติวัณโรคของกรุงเทพมหานคร ดำเนินการครอบคลุม 4 มิติสำคัญ ได้แก่ เร่งรัดค้นหาและตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยวัณโรคและวัณโรคดื้อยา ดูแลรักษาตามาตรฐานสากล ป้องกัน และระบบฐานข้อมูลผู้ป่วย NTIP (National Tuberculosis Information Program) นอกจากนี้ กทม. ยังมีการคัดกรองวัณโรคในกลุ่มคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน ณ ลานคนเมือง ดำเนินการโดยโรงพยาบาลกลาง การคัดกรองค้นหาโรคเชิงรุกในประชากรชุมชนแออัดในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 25 ชุมชน เป็นต้น
สำหรับมาตรการเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนการดำเนินงานควบคุมวัณโรคกรุงเทพมหานคร ภายในปี พ.ศ. 2578 นั้น คณะกรรมการได้มีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียดเนื้อหา และจะมีการพิจารณาในการประชุมครั้งถัดไป นอกจากนี้รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้มอบสำนักอนามัย สำนักการแพทย์ บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนงานด้านนี้ต่อไป