ผศ.ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เผยกับบีบีซีไทยถึงลักษณะของฝนที่ตกหนักในหลายจังหวัดภาคใต้ช่วงเวลานี้ว่า มีความแตกต่างจากหลายปีที่ผ่านมา โดยปีที่แล้วตกแค่ 3 วัน จึงมีเวลาช่วยกันแก้ไขช่วยผู้ประสบภัยได้ แต่ครั้งนี้ตกต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 20-28 พ.ย.67 รวมแล้ว 9 วัน และมีแนวโน้มว่าจะตกต่อเนื่องไปถึงวันที่ 3 ธ.ค. ดังนั้นฝนตกรอบนี้รวมแล้วกว่า 14 วัน โดยวัดปริมาณฝนตกได้ตั้งแต่ 100 – 560 มม. ต่อวัน
ในกรณีนี้ถือว่าแตกต่างจากกรณีที่มีพายุพัดถล่ม กระแสลมพายุจะพัดพาฝนไปเฉพาะพื้นที่ที่พัดผ่านในบางพื้นที่ แต่ฝนที่กำลังตกอยู่ในขณะนี้จะตกกระจายทั่วพื้นที่ โดยหย่อมความกดอากาศเคลื่อนตัวมาจากทะเลจีนใต้ เข้ามายังอ่าวไทย แต่พอขึ้นฝั่งแล้วจะกระจายตัวไปยังพื้นที่ต่าง ๆ โดยด่านแรกคือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา พัทลุง สตูล ตรัง ตามลำดับ
ส่วนอีกปัจจัยที่กำลังจะเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำสู่ทะเล คาดว่าจะใช้เวลาเดินทางถึงปากแม่น้ำในอีก 3 วัน จะตรงกับช่วงน้ำทะเลหนุนสูงที่สุดพอดี โดยปกติน้ำทะเลหนุนจะกินเวลาราว 5 วัน โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. ไปจนถึงวันที่ 3 ธ.ค. โดยวันที่น้ำทะเลหนุนสูงที่สุด คือวันที่ 30 พ.ย.