ผู้เชี่ยวชาญเตือน “เคี้ยวน้ำแข็ง” ทำร้ายฟัน บ่งชี้ปัญหาสุขภาพประจำตัว
สำนักข่าวซินหัว อ้างรายงานเมื่อวันพุธ (4 ธ.ค.) ที่ผ่านมา เดอะ วอชิงตัน โพสต์ รายงานว่าการกัดเล็บ การแทะปลอกปากกาและยางลบหัวดินสอ หรือการเคี้ยวน้ำแข็ง อาจเป็นวิธีรับมือกับความเบื่อหน่ายหรือคลายเครียด แต่คณะผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพช่องปากเตือนว่าพฤติกรรมเหล่านี้อาจนำสู่ฟันแตก บิ่น หรือหัก และอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ปัญหาสุขภาพประจำตัว
คณะผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการเคี้ยวน้ำแข็งอาจทำให้ชั้นเคลือบฟันแตกร้าวจนเกิดปัญหารอยร้าวของผิวเคลือบฟัน ซึ่งอาจลุกลามจนทำให้ฟันแตกในท้ายที่สุด ขณะเดียวกันการเคี้ยวน้ำแข็งอาจทำให้ฟันบิ่นหรือหัก โดยเฉพาะฟันที่มีความเปราะบาง
ฮอลลี ชอว์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะทันตแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เผยว่าแม้ชั้นเคลือบฟันเป็นสสารแข็งที่สุดในร่างกายมนุษย์ แต่ก็ยังอาจเสียหายได้หากเคี้ยวบางสิ่งที่แข็งซ้ำไปมา และน้ำแข็งจัดอยู่ในของแข็งเหล่านั้น
การเคี้ยวน้ำแข็งจัดอยู่ในกลุ่มพฤติกรรมที่เรียกว่ากิจกรรมการบดเคี้ยวนอกหน้าที่ของช่องปาก ร่วมกับการกัดฟัน ดูดนิ้ว กัดริมฝีปาก และการกระทำซ้ำในช่องปากแบบอื่นๆ โดยพฤติกรรมเหล่านี้มักพบในประชากรที่มีความเครียด ความวิตกกังวล และปัจจัยทางอารมณ์อื่นๆ สูงถึงร้อยละ 90
ความอยากและกินน้ำแข็งหรือของที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ดินหรือกระดาษ อาจเกี่ยวโยงกับปัญหาสุขภาพบางประการ เช่น การขาดธาตุเหล็ก ดังนั้นผู้มีความอยากกินน้ำแข็งควรพูดคุยปรึกษากับผู้ให้บริการดูแลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง