นพ.พูนศักดิ์ สุชนวนิช สูตินรีแพทย์ ให้สัมภาษณ์ ในรายการ “สุขภาพดี 4 ทุ่ม”ทางคลื่นข่าว MCOT NEWS FM 100.5 การดูแลสุขภาพช่องคลอดและระบบย่อยอาหารเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกวัย โดยเฉพาะผู้หญิงในวัยทำงานที่ต้องเผชิญกับความเร่งรีบ ความเครียด และการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลต่อสมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกาย การเสริมด้วยโพรไบโอติกและพรีไบโอติกจึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่สามารถปรับสมดุลและส่งเสริมสุขภาพได้
สำหรับโพรไบโอติกเป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ซึ่งพบได้ในอาหารหมักดอง เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ ซุปมิโซะ และคอมบูชา โดยจุลินทรีย์ชนิดดี เช่น แลคโตบาซิลลัส มีบทบาทสำคัญในการช่วยรักษาสมดุลในลำไส้ และช่องคลอด ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อและอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น ตกขาว กลิ่นไม่พึงประสงค์ และอาการคัน
ส่วนพรีไบโอติก คือไฟเบอร์หรือเส้นใยอาหารที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ เช่น กล้วย แอปเปิล หัวหอม กระเทียม ถั่วแดง ข้าวโอ๊ต และขนมปังโฮลวีต ไฟเบอร์เหล่านี้ทำหน้าที่เป็นอาหารให้โพรไบโอติกเจริญเติบโต ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของจุลินทรีย์ชนิดดีในร่างกาย
“การเสริมโพรไบโอติกเหมือนกับการเสริมกองทัพจุลินทรีย์ดีในร่างกาย ส่วนพรีไบโอติกคือการส่งเสบียงให้กองทัพเหล่านี้” นพ.พูนศักดิ์กล่าว
สุขภาพช่องคลอดดีขึ้นได้ง่าย ๆ แค่รู้จักเลือกกิน โพรไบโอติกในอาหารหมัก เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว หรือกิมจิ เป็นแหล่งจุลินทรีย์ดีที่หาทานง่าย ขณะเดียวกัน การเพิ่มพรีไบโอติกในมื้ออาหาร เช่น ถั่วแดง ธัญพืช และผักผลไม้ จะช่วยเสริมสร้างการทำงานของจุลินทรีย์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แม้โพรไบโอติกจะมีประโยชน์มากมาย แต่การบริโภคในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ท้องอืด มีแก๊สในลำไส้ หรือท้องเสียได้ “การบริโภคในปริมาณเหมาะสมและต่อเนื่อง จะช่วยให้สุขภาพดีได้ในระยะยาว”
นอกจากการทานโพรไบโอติกและพรีไบโอติก นพ.พูนศักดิ์ยังแนะนำให้ดูแลตัวเองด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงความเครียด
“สุขภาพดีไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเริ่มต้นจากการดูแลสมดุลในร่างกาย” นพ.พูนศักดิ์กล่าวปิดท้าย พร้อมส่งคำแนะนำถึงผู้หญิงยุคใหม่ ว่าอย่าปล่อยให้ชีวิตที่เร่งรีบกลายเป็นอุปสรรคต่อสุขภาพ
นอกจากนี้โพรไบโอติกและพรีไบโอติกเป็นตัวช่วยสำคัญในการรักษาสุขภาพช่องคลอดและระบบย่อยอาหาร ผู้หญิงยุคใหม่ควรเริ่มต้นดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว