หมอเตือน! อย่าตื่นตระหนก hMPV เป็นไวรัสทางเดินหายใจไม่รุนแรง มีนานแล้ว

Hotnews เริ่ม 1 ตุลา 66 (2)-min

นพ.วิชาญ บุญกิติกร ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ในรายการ “สุขภาพดี 4 ทุ่ม” ทางคลื่นข่าว MCOT NEWS FM100.5 ถึงไวรัส hMPV (Human Metapneumovirus) เชื้อไวรัสที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ

นพ.วิชาญระบุว่า hMPV ไม่ใช่เชื้อใหม่ พบครั้งแรกในเด็ก และเป็นเชื้อที่มีอยู่ในระบบเฝ้าระวังของไทยมาอย่างต่อเนื่อง อาการของผู้ติดเชื้อ hMPV จะคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก อ่อนเพลีย บางรายอาจมีไข้สูง หรืออาการทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบ หรือปอดบวม โดยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้สุ่มตรวจเชื้อจากผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจในไทย พบว่ามีเชื้อ hMPV หมุนเวียนในประเทศในอัตราประมาณ 4% แต่ยังไม่มีการระบาดใหญ่หรือเป็นคลัสเตอร์ ขณะที่ในต่างประเทศ เช่น จีน มีการรายงานสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นในบางพื้นที่ นำไปสู่ความกังวลเกี่ยวกับการระบาด แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันว่า hMPV ไม่ได้มีความรุนแรงผิดปกติ

นพ.วิชาญ เปรียบเทียบว่า hMPV อยู่ในกลุ่มไวรัสระบบทางเดินหายใจ เช่น RSV (Respiratory Syncytial Virus) หรือไข้หวัดใหญ่ อาการส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ในกว่า 90% ของผู้ติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม กลุ่มเสี่ยงอาจมีอาการรุนแรงได้

การป้องกันไวรัส hMPV และเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ ยังคงใช้มาตรการพื้นฐาน เช่น
– ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
– สวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะในพื้นที่แออัด
– รักษาร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการพักผ่อนเพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกาย
– เลี่ยงสัมผัสผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง

ฉะนั้น ผู้ที่มีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น ไข้สูง ไอ น้ำมูก ควรดูแลตัวเองเบื้องต้นโดยการพักผ่อน ดื่มน้ำมากๆ และทานยาลดไข้ หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง หรือมีอาการหนัก เช่น หอบเหนื่อย ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม

นพ.วิชาญเตือนว่า ไม่ควรตื่นตระหนกกับไวรัสชื่อใหม่ที่อาจพบในข่าว เช่น hMPV หรือไวรัสกลุ่มอื่นๆ เพราะเชื้อไวรัสมีมากกว่า 200 สายพันธุ์ ที่อาจเป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจ สิ่งสำคัญคือการติดตามข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของการเฝ้าระวังโรคระบบทางเดินหายใจในช่วงฤดูหนาว ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคมักเพิ่มขึ้น รวมถึงผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ที่อาจทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง

 

แท็ก