สำนักข่าวซินหัว รายงานคณะนักโบราณคดีของจีนเปิดเผยว่าของเหลวในภาชนะสัมฤทธิ์โบราณที่ค้นพบในมณฑลซานตงทางตะวันออกของจีนเป็นสุรากลั่น ซึ่งสะท้อนว่าต้นกำเนิดการผลิตสุรากลั่นของจีนสามารถสืบย้อนกลับไปได้มากกว่า 3,000 ปี
ภาชนะสัมฤทธิ์ดังกล่าวถูกขุดพบที่ซากโบราณต้าซินจวงในเมืองจี่หนานของมณฑลซานตงในปี 2010 และมีความเก่าแก่ที่สืบย้อนกลับได้ถึงยุคปลายราชวงศ์ซาง (1600-1046 ปีก่อนคริสต์ศักราช) โดยนักโบราณคดีใช้เวลาหลายปีในการเปิดภาชนะนี้ที่ขึ้นสนิม
รายงานระบุว่ามีการจัดส่งตัวอย่างของเหลวไปยังห้องปฏิบัติการวิจัยร่วมระดับนานาชาติด้านโบราณคดีสิ่งแวดล้อมและสังคมของมหาวิทยาลัยซานตงเพื่อตรวจสอบ ซึ่งผลลัพธ์ยืนยันว่าของเหลวดังกล่าวเป็นสุรากลั่น
อู๋เหมิง นักวิจัยร่วมประจำห้องปฏิบัติการฯ ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัย กล่าวว่าไวน์ผลไม้และไวน์ข้าวที่ผ่านการหมักโดยไม่ต้องกลั่นจะมีน้ำตาลและโปรตีน นอกเหนือจากมีเอทานอล แต่ตัวอย่างของเหลวนี้ไม่มีน้ำตาลและโปรตีน บ่งชี้ว่าเป็นไวน์กลั่นหรือสุรากลั่น
อู๋เสริมว่าต้นกำเนิดไวน์กลั่นหรือสุรากลั่นของจีนเป็นหัวข้อสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงวัฒนธรรมไวน์ของจีนมาโดยตลอด
อนึ่ง คณะนักโบราณคดีเคยค้นพบอุปกรณ์การกลั่นจากยุคราชวงศ์ฮั่น (202 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ปี 220) รวมถึงสุรากลั่นจากยุคเดียวกันในหลายพื้นที่แล้ว ส่วนการค้นพบใหม่บ่งชี้ว่าประวัติศาสตร์การผลิตสุรากลั่นของจีนสามารถสืบย้อนกลับไปได้มากกว่าที่เคยสันนิษฐานไว้ถึง 1,000 ปี