ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตนายกสภาวิศวกร ให้สัมภาษณ์ในรายการ “แชร์เล่าข่าวเด็ด” ทางคลื่นข่าว MCOT NEWS FM100.5 ถึงผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพคนไทย พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขด้วยการกำหนด “เขตมลพิษต่ำ” ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ศ.ดร.สุชัชวีร์ เล่าประสบการณ์ส่วนตัวถึงคุณพ่อที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 จนต้องเข้าห้อง ICU แม้จะดูแลสุขภาพดีและป้องกันตัวด้วยหน้ากากตลอดเวลา ฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้สามารถสะสมในทางเดินหายใจ จนเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง ส่งผลให้กลายเป็นโรคหอบหืดในวัยชรา ซึ่งสะท้อนถึงความร้ายแรงของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในหลายครอบครัว
ศ.ดร.สุชัชวีร์ เสนอให้กรุงเทพมหานครเริ่มต้นแก้ปัญหาด้วยการกำหนด “เขตมลพิษต่ำ” ใน 16 เขตชั้นในของกรุงเทพฯ ที่มีประชากรหนาแน่น โรงเรียน และโรงพยาบาลจำนวนมาก เช่น ปทุมวัน สาทร บางรัก และดุสิต โดยใช้มาตรการจำกัดรถควันดำและควบคุมการก่อสร้างในพื้นที่ นอกจากนี้อาจพิจารณาเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มจากรถบรรทุก หรือยานพาหนะขนาดใหญ่ เพื่อลดโอกาสปล่อยมลพิษ เพราะฉะนั้นหากไม่เริ่มจากพื้นที่สำคัญเหล่านี้ ความเสียหายทางสุขภาพและเศรษฐกิจจะยิ่งรุนแรง
นอกจากนี้ ความสำเร็จจากต่างประเทศที่กรุงลอนดอน และกรุงปักกิ่ง เป็นตัวอย่างของเมืองที่เคยเผชิญปัญหามลพิษอย่างรุนแรง แต่สามารถแก้ไขได้สำเร็จที่พิสูจน์ได้ว่าการกำหนด “เขตมลพิษต่ำ” ได้ผลจริง ลอนดอนใช้ระบบตรวจจับยานพาหนะปล่อยมลพิษผ่านกล้อง CCTV และกำหนดค่าปรับสูง ส่วนปักกิ่งเน้นการลดพลังงานถ่านหินและสนับสนุนพลังงานสะอาด
ดร.สุชัชวีร์ สนับสนุนให้เร่งร่างกฎหมาย พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …. ซึ่งยื่นโดยภาคประชาชนและภาคการเมือง เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ปัญหามลพิษอย่างยั่งยืน โดยกฎหมายนี้จะเพิ่มอำนาจการควบคุมและช่วยให้มีการตรวจวัดมลพิษที่โปร่งใส และดำเนินการแก้ไขต้นเหตุอย่างจริงจัง พร้อมกำหนดบทลงโทษที่เข้มงวด
“หากเราไม่เริ่มจากเขตใดเขตหนึ่ง ก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวปิดท้าย
อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของการร่วมมือแก้ปัญหาด้วยการกำหนด “เขตมลพิษต่ำ” ใน 16 เขตชั้นในของกรุงเทพฯ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 พร้อมเร่งผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด เพื่อสุขภาพและอนาคตที่ยั่งยืน