นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม. ประกาศขยายระยะเวลา WFH เพิ่มเติม ในวันที่ 22 – 24 ม.ค. 68 เพื่อลดการเดินทาง ลดปริมาณรถยนต์ในภาคการจราจรซึ่งเป็นต้นตอหนี่งของฝุ่นในกรุงเทพฯ
สืบเนื่องจากการที่ กทม. ได้มีการประกาศขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมถึงประชาชนที่สะดวกทำงานที่บ้าน ร่วม WORK FROM HOME (WFH) ในวันจันทร์และอังคารที่ 20 – 21 ม.ค. 68 และจะมีการประกาศขยายระยะเวลา WFH เพิ่มเติมต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 24 ม.ค. 68 หากสถานการณ์ฝุ่นยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องนั้น กทม. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยวานนี้ (20 ม.ค. 68) ณ เวลา 07.00 น. ภาพรวมปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 พบเกินค่ามาตรฐานทั้ง 50 เขต ดัชนีคุณภาพอากาศระดับสีส้ม 50 เขต ส่วนในวันนี้ ณ เวลา 07.00 น. ภาพรวมปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 พบเกินค่ามาตรฐานทั้ง 50 เขตเช่นกัน โดยดัชนีคุณภาพอากาศระดับสีแดง 2 เขต ส้ม 48 เขต และจากการพยากรณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครล่วงหน้า ระหว่างวันที่ 22 – 24 ม.ค. 68 พบว่า 1. มีเขตที่ค่าฝุ่นเข้าเกณฑ์สีส้ม 35 เขตขึ้นไป 2. อัตราการระบายอากาศไม่ดี คือ อยู่ระหว่าง 875 – 2,250 ตารางเมตรต่อวินาที (m2/s) โดยวันที่ 22 ม.ค. คาดการณ์อัตราการระบายอากาศอยู่ที่ 1,750 m2/s วันที่ 23 ม.ค. คาดการณ์อัตราการระบายอากาศอยู่ที่ 1,125 m2/s วันที่ 24 ม.ค. คาดการณ์อัตราการระบายอากาศอยู่ที่ 2,125 m2/s 3. คาดการณ์ทิศทางลมตะวันออกเฉียงเหนือ และ 4. จุดเผาภาคกลาง/ตะวันออก 5 วันติดต่อกัน (11 – 15 ม.ค. 68) เกินวันละ 80 จุด ทั้งนี้ เนื่องจากมวลอากาศเย็นที่ยังคงปกคลุมพื้นที่ตอนเหนือของประเทศไทย ส่งผลให้อากาศนิ่งและจมตัว และเกิดสภาวะอากาศปิดใกล้ผิวพื้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นช่วงวันที่ 25 – 27 ม.ค. 68 เนื่องจากมีอัตราการระบายที่เพิ่มขึ้น
สำหรับท่านที่ไม่สามารถ WFH ได้ หรือมีความจำเป็นต้องออกจากบ้านอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ขอให้ระมัดระวังและดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์ คนชรา ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคภูมิแพ้ โรคปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตเรื้อรัง ฯลฯ ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งและตลอดเวลาที่ออกนอกอาคาร รวมถึงจำกัดระยะเวลาในการอยู่นอกอาคาร อย่างไรก็ตามควรงดทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมากหรือเป็นเวลานาน และต้องสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ โดยสามารถเข้ารับบริการที่คลินิกมลพิษทางอากาศที่เปิดให้บริการทั้งหมด 8 แห่ง ดังนี้ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลนคราภิบาล (โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร) โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลสิรินธร
นายเอกวรัญญู กล่าวต่อไปว่า ทุกคนยังสามารถมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมและลดมลพิษในวันที่กรุงเทพฯ มีฝุ่นสูง โดยเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ จอดรถไว้ที่บ้าน หรือทางเดียวกันไปด้วยกัน เพราะรถทุกคันมีส่วนต่อการสร้างฝุ่น การใช้ระบบขนส่งมวลชนจะสามารถช่วยลดฝุ่นจากยานพาหนะได้มาก นอกจากนี้ ขอชวนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และลดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละออง เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น 1. หมั่นทำความสะอาดบ้านด้วยวิธีเช็ดฝุ่น 2. งดเผาขยะ งดจุดธูป 3. ปลูกต้นไม้ช่วยดูดซับมลพิษดักจับฝุ่นละออง 4. เดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และ 5. ดับเครื่องยนต์ขณะจอดรถ ตรวจและดูแลรักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดีไม่ให้มีค่าควันดำเกินมาตรฐาน