“ม็อบเฉพาะกิจ” เขย่าปมร้อน ชั้น 14 ทวงโปร่งใส-สะท้อนอนาคตการเมืองไทย

สาลี่

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาเอกสาขาการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้สัมภาษณ์ในรายการ “แชร์เล่าข่าวเด็ด” ทางคลื่นข่าว MCOT NEWS FM100.5 ถึงกรณีการเคลื่อนไหวของ “ม็อบเฉพาะกิจ” ที่เกิดขึ้นบริเวณทำเนียบรัฐบาล

รศ.ดร.พิชาย อธิบายว่า การชุมนุมครั้งนี้เกิดขึ้นจากกลุ่มผู้คัดค้านแนวคิดการทำบ่อนกาสิโนและบ่อนออนไลน์ให้ถูกกฎหมาย รวมถึงการเรียกร้องความโปร่งใสเกี่ยวกับปมปัญหา ชั้น 14 ภายในระบบการเมือง โดยมีกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 100 คน พร้อมมีการปราศรัยแสดงความไม่พอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลและสะท้อนมุมมองที่แตกต่างไปถึงอดีต

รศ.ดร.พิชาย มองว่า การรวมตัวครั้งนี้ แม้จะสร้างกระแสในสังคมบางส่วน แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเท่าที่ควร เนื่องจากขาดพลังสนับสนุนที่ชัดเจน และไม่ได้มีจุดเด่นในการเคลื่อนไหวเมื่อเปรียบเทียบกับม็อบในอดีต

นอกจากนี้ การชุมนุมครั้งนี้สะท้อนความไม่พอใจต่อรัฐบาลปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มที่มองว่าประชาธิปไตยไทยในปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง ทำให้เกิดการตั้งข้อสงสัยและเชื่อมโยงถึงอดีต เช่น บทบาทของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และการกล่าวถึงกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ทั้ง กปปส., นปช., และแม้แต่ คสช.

รศ.ดร.พิชาย ตั้งข้อสังเกตว่า หลายฝ่ายยังยึดติดกับแนวทางการรัฐประหารหรือการปฏิวัติประชาชน และยังคงเป็นที่พึ่งของบางกลุ่มที่มองว่าประชาธิปไตยในปัจจุบันแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด ซึ่งเป็นวิธีแก้ปัญหาที่รวดเร็ว แต่ในความเป็นจริง แนวทางนี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง และอาจสร้างความเสียหายมากกว่า

ทางเลือกและอนาคตการเมืองไทยในปี 2568
รศ.ดร.พิชาย มองว่าจุดเปลี่ยนการเมืองไทยในปีนี้ อาจขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1) พลังประชาชนที่ต้องแสดงออกผ่านการเลือกตั้งและการเคลื่อนไหว
2) การปรับตัวของชนชั้นนำเพื่อลดความตึงเครียดในสังคม
3) แรงกดดันจากนานาชาติที่อาจมีผลต่อการพัฒนาประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยในปี 2568 ยังคงต้องจับตาดูว่าจะเดินหน้าไปในทิศทางใด โดยเฉพาะบทบาทของประชาชนและการตอบสนองของชนชั้นนำในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญนี้

 

ประเภท : การเมือง
แท็ก