นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ให้สัมภาษณ์ในรายการ “แชร์เล่าข่าวเด็ด” ทางคลื่นข่าว MCOT NEWS FM100.5 ถึงกฎหมายสมรสเท่าเทียม และกฎหมายฟ้องชู้ใหม่ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ว่าการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวได้เปลี่ยนคำเรียกจาก “สามี-ภรรยา” เป็น “คู่สมรส” เพื่อให้ครอบคลุมทุกเพศ โดยกฎหมายเดิมระบุเพียง “ชาย-หญิง” ทำให้หากคู่สมรสเป็นชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง จะไม่สามารถฟ้องร้องในกรณีมีชู้ได้ แต่กฎหมายใหม่นี้ทำให้ทุกคู่สมรส ไม่ว่าจะเพศใด มีสิทธิ์ในการฟ้องชู้เท่าเทียมกัน
นอกจากนี้กฎหมายใหม่ยังได้ขยายความหมายของการฟ้องชู้ ที่ไม่จำกัดเพียงเพศชาย-หญิง อีกต่อไป เช่น หากคู่สมรสชายไปมีความสัมพันธ์กับชายอีกคน หรือหญิงไปมีความสัมพันธ์กับหญิง ก็สามารถถูกฟ้องร้องได้ ซึ่งต่างจากกฎหมายเดิมที่ไม่ครอบคลุมกรณีดังกล่าว
นายรณณรงค์ กล่าวต่อว่ากฎหมายใหม่กำหนดให้การฟ้องชู้ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานว่าเป็นการกระทำทางเพศโดยสมบูรณ์ เช่น การกอด จูบ หรือลูบไล้ ก็ถือเป็นเหตุให้ฟ้องได้ เพราะมีการนิยามไว้ว่าต้องเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่
“ความกว้างของนิยามในกฎหมายใหม่อาจทำให้เกิดความยุ่งยากในการพิสูจน์ว่าการกระทำใดถึงจะถือว่าเป็นการสนองความใคร่ และจะต้องมีหลักฐานระดับใด จึงจะสามารถฟ้องร้องได้ กรณีที่คู่สมรสเพียงแค่พาบางคนไปกินข้าว อาจยังไม่ถือเป็นการสนองความใคร่ แต่ถ้าคู่กรณีมีการอุปการะ เช่น ซื้อรถ ซื้อคอนโด หรือให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ก็อาจถูกมองว่าเข้าข่ายเป็นชู้” นายรณรงค์ กล่าว
นายรณณรงค์ กล่าวอีกว่า การแก้กฎหมายใหม่เกิดขึ้นหลังจากที่มีหญิงรายหนึ่งฟ้องสามีและชู้ซึ่งเป็นผู้ชาย แต่กลับแพ้คดี เนื่องจากกฎหมายเดิมไม่รองรับให้ผู้ชายเป็นชู้กับผู้ชาย ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จึงช่วยแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม และเปิดประเด็นท้าทายใหม่ ในเรื่องการพิสูจน์ความสัมพันธ์ในกรณีของคู่สมรสที่มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากนี้ในกรณีคู่สมรส LGBTQ+ หากต้องการมีบุตร กฎหมายปัจจุบันยังไม่ระบุถึงสิทธิของบิดา-มารดาในลักษณะนี้ หรือในกรณีการใช้กฎหมายอุ้มบุญ อาจต้องแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ทั้งนี้กฎหมายใหม่ดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญของสังคมไทย แต่ในทางปฏิบัติยังต้องมีการตีความและสร้างความชัดเจนในอีกหลายประเด็น เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและสังคมโดยรวม