กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เร่งดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใช้ระบบ TRCBAS สแกนม่านตาขึ้นทะเบียนประชากรต่างด้าวในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้องและตรงตามสิทธิ์ พร้อมสร้างฐานข้อมูลเพื่อการจัดสรรทรัพยากรและวางแผนการดูแลด้านสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีประชากรต่างด้าวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่มีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรไทยและต่างด้าวอยู่ที่ 1:1,927 ซึ่งการใช้ระบบ TRCBAS จะช่วยให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถจัดสรรทรัพยากรด้านสุขภาพได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลการดูแลสุขภาพประชากรในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลจาก นพ.รเมศ ว่องวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด พบว่าในอำเภอแม่สอดมีประชากรไทยประมาณ 117,254 คน ซึ่งใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 80,162 คน ขณะเดียวกันมีประชากรต่างด้าวประมาณ 204,676 คน โดยในพื้นที่ดังกล่าวมีแพทย์ทั้งหมด 167 คน ซึ่งแบ่งเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลแม่สอด 82 คน และแพทย์เอกชนรวมคลินิกอีก 85 คน การคำนวณอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรไทยและต่างด้าวในพื้นที่อยู่ที่ 1:1,927 นอกจากนี้ การที่ประชากรต่างด้าวได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลและการเบิกชดเชยจากกองทุนที่รับผิดชอบได้ครบถ้วนแล้ว
ด้าน นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 กล่าวเพิ่มเติมว่า การขึ้นทะเบียนประชากรต่างด้าวผ่านระบบ TRCBAS จะช่วยให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกรณีของประชากรที่มีการเคลื่อนย้ายตลอดเวลา ซึ่งระบบ TRCBAS ที่พัฒนาโดยสภากาชาดไทยร่วมกับกรมควบคุมโรค และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) จะช่วยยืนยันตัวตนประชากรต่างด้าวและสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการจัดสรรทรัพยากรสาธารณสุขได้ตรงจุด โดยปัจจุบันมีการยืนยันตัวตนประชากรต่างด้าวในจังหวัดตากผ่านระบบ TRCBAS แล้ว 7,616 คน
ล่าสุด ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอให้ ครม. พิจารณาการขึ้นทะเบียนประชากรต่างด้าวผ่านระบบ TRCBAS เพื่อให้บุคคลที่ขึ้นทะเบียนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้อย่างถูกต้อง โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งรัดดำเนินการขึ้นทะเบียนประชากรต่างด้าวในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการวางแผนการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังจะมีการจัดสรรโควตานักศึกษาแพทย์ พยาบาล สำหรับคนในพื้นที่ และการศึกษาแพทย์ในสาขาที่จำเป็นต่อการรองรับการดูแลสุขภาพในอนาคต.