จากกรณี เมื่อวันที่ 2 เม.ย.68 ที่ผ่านมาในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2568 โดย นายพีรพล กนกวลัย สก.พญาไท และเลขาธิการพรรคเส้นด้าย ได้กระทู้ถามสด เรื่อง การเตรียมการรับมือสถานการณ์การระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ของกรุงเทพมหานคร กล่าวตอนหนึ่งว่า “ท่านต้องดูแลประชาชนคนไทยให้มากกว่านี้ ท่านไปอยู่ตรงนั้น เขาเสียชีวิตหมดแล้ว แต่คนไทยที่ยังไม่เสียชีวิต ท่านต้องหันกลับมาดูแล ฉีดวัคซีนให้คนที่ยังไม่เสียชีวิต นะครับ ขอบคุณครับ”
ล่าสุดเพจเฟซบุ๊กของ พรรคเส้นด้าย ได้โพสต์ถึงประเด็นดังกล่าวระบุว่า “เมื่อการตั้งคำถามว่า ‘คนไทยควรได้วัคซีนก่อน’ กลายเป็นดรามา ท่ามกลางกระแสดรามา ของผู้ว่าฯชัชชาติกับพรรคเส้นด้าย วันนี้ สก.พีรพล กนกวลัย พูดถึงสถานการณ์ ที่ไข้หวัดใหญ่กำลังระบาดในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ป่วยเรื้อรัง ที่เข้าไม่ถึงวัคซีนที่ควรได้รับตามสิทธิขั้นพื้นฐาน
ศูนย์สาธารณสุข กทม. แจ้งพรรคเส้นด้ายว่า ‘วัคซีนหมด’ หรือ ‘ยังไม่มา’ ทั้งที่ทางกรุงเทพมหานครได้ประกาศว่ามีวัคซีนอยู่ในแผน มีงบประมาณรองรับ และมีการจัดสรรจำนวนหลายแสนโดส
เมื่อ สก.พีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานครจากพรรคเส้นด้าย ลุกขึ้นตั้งคำถามในสภา เขาถามถึงความล่าช้าในการจัดสรรวัคซีน เขาถามถึงจำนวนวัคซีนที่กำลังจะหมดอายุในคลัง เขาถามว่าวัคซีนหายไปไหน 10,000 โดส ราชการอย่าง กทม. ทุจริตหรือไม่ เขาเสนอให้ กทม. ดำเนินการเชิงรุก เข้าถึงกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงตั้งคำถามว่าเหตุใดเราจึงยัง ‘รอ’ ให้คนไทยมาเข้าคิวรับวัคซีน แทนที่จะเดินเข้าไปหาคนที่ต้องการความช่วยเหลือ
คำถามเหล่านี้ควรได้รับคำตอบเชิงนโยบาย แต่น่าเสียดายที่สิ่งที่เขาได้รับกลับเป็น ‘ดรามา’ หนึ่งในประโยคที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด คือคำกล่าวว่า ‘เขา (พม่า) เสียชีวิตหมดแล้ว แต่คนไทยที่ยังไม่เสียชีวิตต้องกลับมาดูแล ผู้ว่าฉีดให้คนไทยก่อน (ก่อนจะไปห่วงพม่าที่อยู่ใต้ซากตึก สตง.)’
ข้อความดังกล่าวถูกตีความว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติ หรือไม่เห็นใจแรงงานต่างด้าวที่เสียชีวิต ทั้งที่ในความเป็นจริง ประโยคนี้สะท้อนเพียงเจตนาชัดเจนว่า หลัง 72 ชั่วโมงซึ่งเป็นชั่วโมงทองคำ ที่ผู้ประสบภัยมีโอกาสรอดชีวิตมากที่สุด ซึ่งในชั่วขณะที่ สก.พีรพลพูด เวลาทองคำนั้นได้ผ่านไปแล้ว เพราะฉะนั้นตามหลักสากล ให้ปฏิบัติเยี่ยงผู้ประสบภัยได้เสียชีวิตแล้ว (พูดหลังเหตุการณ์ 5 วัน หรือเท่ากับ 120 ชั่วโมง หลังเกิดเหตุ)
และที่สำคัญที่สุด กทม. ควรต้องรับผิดชอบต่อประชาชนไทยผู้เสียภาษี ให้ครบถ้วนก่อนเป็นอันดับแรก การเห็นใจต่อผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุใดๆ ไม่ควรกลายเป็นข้ออ้างในการ เบี่ยงเบนประเด็นการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ ซึ่งในปีที่แล้วคนไทยเสียชีวิต 51 คนจากไข้หวัดใหญ่
ในฐานะผู้แทนประชาชน สก.พีรพลมีหน้าที่พูดในสิ่งที่ประชาชนไทยกำลังเผชิญอยู่จริง และประชาชนเหล่านั้นคือผู้สูงอายุในบ้านของเรา เด็กเล็กในชุมชนของเรา และผู้ป่วยติดเตียงที่ลูกหลานไม่สามารถพาไปฉีดวัคซีนได้ทัน
หากวันนี้ กทม.ยังไม่สามารถจัดการ ‘วัคซีนไข้หวัดใหญ่’ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐาน หากวันนี้ประชาชนต้องรอวัคซีนที่กำลังจะหมดอายุ ทั้งที่เป็นของที่จัดสรรแล้ว หากวันนี้การพูดคำว่า ‘ขอให้ดูแลคนไทยก่อน’ กลายเป็นสิ่งที่ถูกด่ามากกว่าการส่อโกงวัคซีน เราอาจต้องสูญเสียชีวิตของคนไทยไม่น้อยกว่า 50 ชีวิต
สุดท้ายเราควรถามกลับว่า-ในวันที่ผู้ว่าฯห่วงศพมากกว่าชีวิตคนไทย วันหน้าชาติไทยจะเหลืออะไร
พรรคเส้นด้ายขอยืนยันว่า การตั้งคำถามถึงความโปร่งใส ไม่ใช่การเหยียดชาติพันธุ์ การเรียกร้องสิทธิให้ประชาชนไทย ไม่ได้หมายถึงการลบหลู่ชีวิตของใคร และการตรวจสอบผู้บริหารที่ตอบเลี่ยงประเด็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า คือหน้าที่ที่เราจะไม่ถอย