น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าพรรคกล้าธรรม, นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หัวหน้าพรรคประชาชาติ ร่วมแถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี และการหารือร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาล
นายกรัฐมนตรีระบุการประชุมดังกล่าวมีข้อสรุปว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการจัดการวิกฤตเร่งด่วนในประเทศก่อน ทั้งกรณีเหตุแผ่นดินไหวและมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงการพิจารณาประเด็นการยกเว้นกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือประชาชนให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของภาษีนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีการประชุมในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงการเลื่อนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการประกอบสถานบันเทิงครบวงจร หรือ เอนเตอร์เทนเม้นต์คอมเพล็กซ์ ที่เดิมมีกำหนดจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวันที่ 9 เมษายนนี้ นายกรัฐมนตรีระบุว่า
“เดี๋ยวดูว่าในสภาจะอย่างไรต่อ ซึ่งที่คุยกับพรรคร่วมฯ ก็เอาเรื่องที่เร่งด่วนก่อน อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้ถอนหรือดึงร่างกลับมา ระหว่างนี้ก็รับฟังความคิดเห็นได้เรื่อยๆ ซึ่งรัฐบาลเล็งเห็นว่าเราควรจะเรียงลำดับความสำคัญ”
เมื่อถามต่อว่าจะมีการนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาในสมัยประชุมหน้าหรือไม่ นายกรัฐมนตรีตอบเพียงว่า “ค่ะ”
อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า สาเหตุหลักที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจถอยจากการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ในสมัยประชุมปัจจุบัน มาจากท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ที่เตรียมจะลงมติงดออกเสียง หากร่างดังกล่าวถูกเสนอเข้าสู่วาระแรกของการประชุมสภา
ขณะเดียวกัน สมาชิกวุฒิสภากลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “สว.สายสีน้ำเงิน” ได้ออกแถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติต่อร่างกฎหมายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงและประโยชน์โดยรวมของประเทศ ตามที่กฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติกำหนด หากรัฐบาลละเลยอาจเข้าข่ายกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 172 รวมถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 123/1 หากพบว่ามีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือเอื้อประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งยังรวมถึงเหตุผลด้านจริยธรรมด้วย
ทั้งนี้ ท่าทีของ ส.ว.สายสีน้ำเงินสอดคล้องกับจุดยืนของพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค จนนำไปสู่การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีและแกนนำพรรคเพื่อไทย ในการเลื่อนการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวออกไปในที่สุด