นพ.ธนภัทร จงไพบูลย์พัฒนะ อายุรแพทย์แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลไทยนครินทร์ เผยในรายการ “สุขภาพดี 4 ทุ่ม” ทางคลื่นข่าว MOCTNews FM100.5 ว่า “โรคลมแดด” หรือ ฮีตสโตรก เป็นภาวะร้ายแรงที่สุดจากความร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกิน 40.5 องศาเซลเซียส และไม่สามารถระบายความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยผู้ป่วยอาจมีอาการสับสน ชัก หมดสติ หรือรุนแรงถึงขั้นอวัยวะล้มเหลว จึงต้องได้รับการช่วยเหลือโดยด่วน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ทำกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานาน
ซึ่งการดื่มน้ำปกติหรือน้ำเย็นสามารถช่วยป้องกันฮีตสโตรกได้ เพราะช่วยรักษาระดับอุณหภูมิและปริมาณน้ำในร่างกายให้เหมาะสม
นพ.ธนภัทร ยังแนะถึงแนวทางปฐมพยาบาลเบื้องต้นว่า สิ่งสำคัญคือต้องลดอุณหภูมิร่างกายให้เร็วที่สุด ด้วยวิธีทางกายภาพ เช่น พาผู้ป่วยไปยังที่ร่มหรือมีอากาศถ่ายเทดี ถอดเสื้อผ้าที่รัดแน่น และหากผู้ป่วยรู้สึกตัว ให้ดื่มน้ำเย็นหรือน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยของเหลวที่สูญเสียไป
ทั้งนี้หากผู้ป่วยหมดสติ ต้องตรวจเช็กชีพจรและการหายใจทันที หากไม่มีชีพจร ควรรีบทำ CPR และแจ้งรถพยาบาลทันที