ตำรวจย้ำไม่มีนโยบายเปิดเพจเฟซบุ๊กรับแจ้งความมิจฉาชีพออนไลน์
ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมกับหลายองค์กร จัดอบรมโครงการ “Fact-checker หญิงไทยใจทันสื่อ” โดยเชิญ พ.ต.ต.วีระพงษ์ แนวคำดี สารวัตรกลุ่มงานป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มาบรรยายเรื่อง “รู้ทันมิจฉาชีพออนไลน์ อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งแชร์ อย่าเพิ่งโอน” โดย พ.ต.ต.วีระพงษ์ ได้แนะนำวิธีการดูว่าเพจเฟซบุ๊กใดเป็นเพจจริง หรือเพจใดเป็นเพจต้องสงสัยว่าอาจเข้าข่ายเพจปลอม
ทั้งนี้ พ.ต.ต.วีระพงษ์ กล่าวว่า ให้สังเกตเครื่องหมายถูกสีฟ้า หรือ Meta Verify ซึ่งหมายความว่าเพจนั้นได้รับการรับรองจากเมตา ซึ่งผู้ให้บริการเฟซบุ๊กยืนยันว่าเป็นเพจจริง และเครื่องหมายดังกล่าวต้องอยู่ต่อท้ายชื่อเพจเท่านั้น เพราะมีมิจฉาชีพใช้วิธีตัดต่อภาพ นำเครื่องหมายถูกสีฟ้าไปตัดต่อใส่ไว้ในรูปโปรไฟล์ของเพจ และที่ต้องระวังคือ เพจปลอมจะมีการซื้อโฆษณา กลายเป็นเมื่อถูกเพจปลอมหลอกแล้วพิมพ์คำค้นหาว่าถูกหลอกแล้วทำอย่างไร ก็จะเห็นเพจรับแจ้งความร้องทุกข์ออนไลน์ปลอมขึ้นมาลำดับแรกๆ ทำให้หลงเชื่อถูกหลอกซ้ำซ้อนอีก ซึ่งต้องย้ำว่า ทางตำรวจไม่มีนโยบายเปิดเพจเฟซบุ๊กสำหรับรับแจ้งความกรณีถูกหลอกลวงโดยมิจฉาชีพออนไลน์ โดยผู้ตกเป็นเหยื่อถูกหลอกโอนเงินไปแล้ว ให้โทรศัพท์ไปที่สายด่วนตำรวจไซเบอร์ 1441 เท่านั้น หรือหากยังโทร 1441 ไม่ติด ก็ให้โทรไปที่ธนาคารก่อนเพื่อให้อายัดบัญชี แล้วจะได้ Bank Case ID มาจากธนาคาร สำหรับนำไปกรอกข้อมูลในเว็บไซต์ https://thaipoliceonline.go.th/ ซึ่งเป็นระบบรับแจ้งความสำหรับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีของ สตช. หรือเดินทางไปแจ้งความเองก็ได้ที่สถานีตำรวจ
“ถ้าท่านโทรได้ Bank Case ID แล้ว ท่านต้องไปแจ้งความภายใน 72 ชั่วโมง พอท่านแจ้งความภายใน 72 ชั่วโมง พนักงานสอบสวนจะแจ้งธนาคารไปว่า Bank Case ID นี้มาแจ้งความแล้ว หลังจากที่ธนาคารได้รับการตอบรับจากผู้เสียหาย ธนาคารจะอายัดบัญชีต่ออีก 7 วัน เพื่อที่จะรอหมายอายัดถาวรจากตำรวจ ต้อง 72 ชั่วโมงนะ แต่ถ้าเผื่อไม่ทัน 72 ชั่วโมง ไม่มีปัญหา ท่านก็ยังแจ้งความได้อยู่ แต่ธนาคารเขา Hold (หยุด) ไว้ได้ 72 ชั่วโมง” พ.ต.ต.วีระพงษ์ กล่าว