อยู่ในอินเดีย 83 แห่ง รายงานใหม่ระบุว่า 100 เมืองที่มีระดับมลพิษในอากาศแย่ที่สุดในโลก ประจำปี 2566 อยู่ในเอเชียเกือบทั้งหมด และ 83 เมืองในจำนวนนี้ อยู่ในประเทศอินเดีย
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า IQAir หน่วยงานติดตามคุณภาพอากาศ เผยแพร่ผลการศึกษาใหม่ ซึ่งตรวจสอบความหนาแน่นของฝุ่นละออง PM 2.5 ในอากาศของเมืองต่างๆ ทั่วโลก และพบว่า มีเพียง 7.5% จาก 7,812 เมืองใน 134 ประเทศและดินแดนที่พวกเขาตรวจสอบเท่านั้น ที่มีคุณภาพอากาศผ่านมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO)
ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ระดับความหนาแน่นของฝุ่น PM 2.5 ในอากาศเฉลี่ยรายปี ไม่ควรเกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่การมี PM 2.5 ประมาณ 12-15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ยังถือว่าปลอดภัยต่อการหายใจ แต่หากตัวเลขเกิน 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะเริ่มถือว่าไม่ดีต่อสุขภาพแล้ว
รายงานของ IQAir ระบุอีกว่า เมืองที่มีมลพิษในอากาศมากที่สุด 100 อันดับแรก มีถึง 99 แห่งที่อยู่ในทวีปเอเชีย และ 83 แห่งในจำนวนนี้อยู่ในอินเดีย โดยทุกเมืองมีค่าความหนาแน่นของ PM 2.5 สูงกว่ามาตรฐานของ WHO ตั้งแต่ 10% ขึ้นไป
เมืองที่รั้งอันดับ 1 เมืองคุณภาพอากาศแย่ที่สุดประจำปี 2566 คือเมือง เบกูซาไร ซึ่งมีประชากร 5 แสนคน ตั้งอยู่ในรัฐพิหาร ทางตอนเหนือของอินเดีย มีระดับความหนาแน่นของฝุ่น PM 2.5 ในอากาศเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 118.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือสูงกว่ามาตรฐานของ WHO ถึง 23 เท่า
ขณะที่กรุงนิวเดลี ติดอันดับ 3 เมืองที่มีมลพิษในอากาศมากที่สุดในอินเดีย และเป็นเมืองหลวงที่คุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกด้วย โดยมี PM 2.5 ถึง 92.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
รายงานของ IQAir เตือนว่า ตอนนี้ชาวอินเดียกว่า 1.3 พันล้านคน หรือราว 96% ของประชากรทั้งหมด กำลังใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่มลพิษในอากาศสูงกว่ามาตรฐานของ WHO ถึง 7 เท่าทั้งนี้ ทั่วโลกมีเพียง 10 ประเทศและดินแดนเท่านั้น ที่ถูกจัดว่าคุณภาพอากาศ ‘ดีต่อสุขภาพ’ (healthy) ตามมาตรฐานของ WHO ได้แก่ ฟินแลนด์, เอสโตเนีย, ปอร์โตริโก, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, เบอร์มิวดา, เกรนาดา, ไอซ์แลนด์, มอริเชียส และเฟรนช์ โพลีนีเซีย
ภูมิภาคเอเชียกลางและเอเชียใต้ ถือเป็นพื้นที่ที่มีผลงานด้านคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในปี 2566 เพราะเป็นที่ตั้งของประเทศที่มี PM 2.5 หนาแน่นที่สุด 4 อันดับแรกของโลก ได้แก่ บังกลาเทศ, ปากีสถาน, อินเดีย และทาจิกิสถาน โดยระดับความหนาแน่นของ PM 2.5 ในอากาศอยู่ที่ 79.9, 73.7, 54.4 และ 49 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามลำดับ
ส่วนประเทศไทย รั้งอยู่อันดับที่ 36 ของโลก มีระดับความหนาแน่นของ PM2.5 ในอากาศเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 23.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่ามาตรฐานของ WHO 4.7 เท่า
ขณะเดียวกันในอเมริกาเหนือ ประเทศแคนาดาได้รับผลกระทบจากเหตุไฟป่ารุนแรงตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงตุลาคม ทำให้อันดับมลพิษในอากาศของพวกเขา แซงหน้าสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก
ที่สหรัฐฯ เมืองที่เผชิญไฟป่าอย่าง มินนิเอโพลิสและดีทรอยต์ ต่างมีค่ามลพิษในอากาศเฉลี่ยรายปีเพิ่มขึ้น 30%-50% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเมืองโคลัมบัส ในรัฐโอไฮโอ ยังรั้งตำแหน่งเมืองอากาศแย่ที่สุดของประเทศ แต่เมืองใหญ่อย่าง พอร์ตแลนด์, ซีแอตเติล และ ลอสแอนเจลิส มีค่ามลพิษเฉลี่ยลดลงมาก
นายแฟรงก์ แฮมเมส ซีอีโอของ IQAir Global ระบุว่า มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนในทุกด้าน ประชาชนในประเทศที่อากาศแย่ที่สุดบางแห่ง อาจมีอายุสั้นลง 3-6 ปี และทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่อไปอีกหลายปี ทั้งที่ป้องกันได้และไม่ควรเกิดขึ้นหากคุณภาพอากาศดีกว่านี้
ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสาร BMJ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน พบว่า ในแต่ละปีมีผู้ที่ต้องเสียชีวิตด้วยปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพอากาศจำนวนหลายล้านคน แค่มลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเดียวก็ฆ่าคนทั่วโลกปีละว่า 5.1 ล้านศพแล้ว
WHO เตือนว่า ทุกปีจะมีคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 6.7 ล้านศพ เพราะผลกระทบจากมลพิษทางอากาศแวดล้อม (ภายนอกอาคาร) และมลพิษทางอากาศภายในครัวเรือน ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของน้ำมันก๊าดหรือเชื้อเพลิงแข็ง ไม่ว่าจะจากการจุดไฟเพื่อทำอาหาร, ให้ความร้อน หรือแสงสว่าง