“ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ทั่วโลก พุ่ง82% จะเพิ่มขึ้นอีก 33% ในปี 2030
สำนักข่าวซินหัว อ้างรายงานจากหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยว่าปริมาณการสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเวสต์ (e-waste) ของโลก เติบโตเร็วกว่าการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ถึง 5เท่า ส่งผลให้ภัยอันตรายด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพทั่วโลกรุนแรงยิ่งกว่าเดิม
รายงานจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และสถาบันเพื่อการฝึกอบรมและการวิจัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิทาร์ (UNITAR) ระบุว่าปริมาณการสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์สูงเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 62 ล้านตันในปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 82 ตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างพุ่งพรวดนี้สวนทางกับตัวเลขขยะที่ถูกรวบรวมและรีไซเคิลในปี 2022 ที่มีไม่ถึงหนึ่งในสี่
นอกจากนั้น รายงานคาดการณ์ว่าการผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 33 ภายในปี 2030 กลายเป็น 82 ล้านตันต่อปี แนวโน้มอันน่าตกใจนี้ตอกย้ำความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการแก้ไข
นิคิล เซธ กรรมการบริหารของยูนิทาร์ กล่าวว่าแม้แผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จะกลายเป็นความหวังในการต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศและขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางดิจิทัล แต่จำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจำเป็นต้องได้รับความสนใจเร่งด่วนเช่นกัน
อนึ่ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ถูกทิ้งแบบใดก็ตามที่มีปลั๊กหรือแบตเตอรี่ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีส่วนประกอบก่ออันตราย
วาเนสซา เกรย์ หัวหน้าแผนกสิ่งแวดล้อมและโทรคมนาคมฉุกเฉินของสหภาพฯ ทิ้งท้ายว่าเราต้องเข้าใจถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมจากการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสม ไม่อย่างนั้น ความก้าวหน้าทางดิจิทัลของคนรุ่นต่อไปจะประสบกับความเสี่ยงสำคัญ