สธ.พร้อมดูแลประชาชนเทศกาลมหาสงกรานต์ 21 วัน ย้ำ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ”
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้แทนจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันแถลงข่าวขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ”
ทั้งนี้รัฐบาลประกาศให้มีการจัดกิจกรรม “มหาสงกรานต์ World Songkran Festival” ตั้งแต่วันที่ 1-21 เมษายน 2567 รวม 21 วัน เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนประเพณีสงกรานต์เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ รวมทั้งมีการประกาศวันหยุดราชการช่วงเทศกาลสงกรานต์ 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 12 – 16 เมษายน 2567 เพื่อให้ประชาชนเดินทางกลับบ้านและท่องเที่ยว ซึ่งเมื่อมีการใช้รถใช้ถนนจำนวนมาก ประกอบกับพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศมีการจัดงานประเพณีและงานรื่นเริง ทำให้มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าช่วงปกติ ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยถนน (ศปถ.) จึงประกาศดำเนินงานเข้มข้นเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน ลดผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ช่วง 7 วัน ระหว่างวันที่ 11- 17 เมษายน 2567 รวมทั้งได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดและบุคลากรเตรียมความพร้อมในการดูแลพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่
ขณะที่ในช่วง 7 วัน เทศกาลสงกรานต์ปี 2566 มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้น 2,203 ครั้ง เสียชีวิต 264 ราย และบาดเจ็บรุนแรง 2,208 ราย สาเหตุหลักมาจากการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ตัดหน้ากระชั้นชิด ในปีนี้ตั้งเป้าว่าจะลดลงให้ได้เกินครึ่งหนึ่งจากมาตรการที่เข้มข้นของทุกฝ่าย สำหรับการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุที่ไม่สามารถตรวจวัดโดยวิธีเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ พบผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกฎหมายกำหนดถึง ร้อยละ 33.53 ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.46 ผู้บาดเจ็บที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิต ไม่ได้สวมหมวกนิรภัย เกือบร้อยละ 90 เมื่อเกิดอุบัติเหตุจึงทำให้บาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต ดังนั้น ผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ ขอให้สวมหมวกนิรภัยทุกครั้งไม่ว่าจะเดินทางใกล้หรือไกล ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ส่วนผู้ที่เดินทางโดยรถยนต์ รถรับจ้าง รถโดยสารสาธารณะ ให้คาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง และหากเป็นเด็กเล็กควรจัดหาที่นั่งนิรภัย (Car Seat) ให้เด็กด้วย
“หวังว่าพี่น้องประชาชนจะเดินทางไปกลับและท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย สุขกาย สุขใจ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดและบุคลากรเตรียมความพร้อมดูแลประชาชนแล้ว หากเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตถึงชีวิต สามารถใช้สิทธิ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ทั้งของรัฐหรือเอกชน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จนพ้นวิกฤตหรือสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย” นพ.ชลน่านกล่าว