ศปถ.ประสานจังหวัดดูแลความปลอดภัยถนนสายหลัก – สายรอง – โซนนิ่งเล่นน้ำสงกรานต์ คุมเข้มขับรถเร็ว – ดื่มแล้วขับ

 
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 11 เมษายน 2567 เกิดอุบัติเหตุ 234 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 248 คน ผู้เสียชีวิต 25 ราย ศปถ. ได้ประสานจังหวัดดูแลความปลอดภัยในเส้นทางสายหลักและสายรอง รวมถึงพื้นที่จัดกิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์ (Zoning) พร้อมคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนโดยเฉพาะการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ รวมถึงกวดขันการใช้อุปกรณ์นิรภัย คุมเข้มการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้อยู่ในเวลาที่กำหนดและไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี อีกทั้งเพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจรถโดยสารสาธารณะ ตลอดจนร่วมกันส่งเสริมการเล่นน้ำสงกรานต์ตามประเพณีวิถีไทย เพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ให้เป็นเทศกาลแห่งความสุขและความปลอดภัย
 
นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า วันนี้ประชาชนบางส่วนเดินทางถึงภูมิลำเนาหรือสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว แต่ยังมีประชาชนส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างเดินทาง โดยถนนสายหลักมุ่งสู่ภูมิภาคต่างๆ จะมีปริมาณรถหนาแน่น ศปถ. ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายจราจรเคร่งครัด พร้อมเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ในการดูแลเส้นทางหลัก สายรอง และเส้นทางโดยรอบสถานที่ท่องเที่ยว คุมเข้มการขับรถเร็ว เมาแล้วขับ ไม่สวมหมวกกันน็อก ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย รวมถึงเพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจรถโดยสารสาธารณะ และดูแลความพร้อมของพนักงานขับรถ รวมถึงกวดขันจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้อยู่ในเวลาที่กำหนดเท่านั้น และไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี กรณีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ดื่มแล้วขับแล้วเสียชีวิต ให้มีการสืบสวนขยายผลเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ที่สนับสนุนให้เด็กดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งจุดบริการประชาชน โดยพิจารณาเลือกพื้นที่ปลอดภัย ไม่กีดขวางช่องทางจราจร มีระยะห่างจากขอบทาง โดยเฉพาะพื้นผิวจราจรเปียก หรือมีน้ำขังจากการเล่นน้ำ ควรจัดให้มีเครื่องหมาย กรวย หรือป้ายแสดงให้เห็นจุดบริการ สำหรับพื้นที่ที่มีการจัดกิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์จะต้องเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัย และปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด (Zoning) โดยประสานตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวและประชาชน
 
ด้านนายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 11 เมษายน 2567 ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ “ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 234 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 248 คน ผู้เสียชีวิต 25 ราย
 
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 44.02, ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 20.94, ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 16.67 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 86.07 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง, ร้อยละ 85.90 ถนนกรมทางหลวง, ร้อยละ 47.01 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน, ร้อยละ 23.50
 
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 16.01-17.00 น. ร้อยละ 8.55 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 16.48 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,729 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,203 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สงขลา (11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สงขลา (13 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (3 ราย)
แท็ก