นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า ขณะนี้พบการจำหน่ายภาชนะสแตนเลสคุณภาพต่ำจากต่างประเทศมาจำหน่ายในไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทางช่องทางออนไลน์ จึงมีความเป็นห่วงว่าสินค้าดังกล่าวอาจจะไม่ปลอดภัยกับผู้บริโภค ตนจึงได้กำชับให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมมาตรฐานสินค้า เร่งดำเนินการให้เป็นสินค้าควบคุม เพราะต้องสัมผัสกับอาหารและเครื่องดื่มโดยตรง หากเป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐานอาจมีสารปนเปื้อนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาวได้ โดยก่อนหน้านี้ สมอ. ได้บังคับใช้มาตรฐานภาชนะเคลือบเทฟล่อน ภาชนะเมลามีน และภาชนะพลาสติกไปแล้ว ซึ่งพบว่าสามารถสกัดสินค้าไม่มีคุณภาพและไม่มีมาตรฐานในท้องตลาดได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นไปตามภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรมในการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคจากการใช้สินค้า และปกป้องผู้ประกอบการในประเทศที่ผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน
นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้ภาชนะและเครื่องใช้เหล็กกล้าไร้สนิมสำหรับอาหารที่ใช้ในครัวเรือน หรือ “ภาชนะสแตนเลส” เป็นสินค้าควบคุม ตามที่ สมอ. เสนอแล้ว โดยมีการปรับปรุงแก้ไขสาระสำคัญของมาตรฐานให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และจะเร่งประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมภายในปี 2567 รวมทั้งยังได้เห็นชอบร่างมาตรฐานอีกจำนวน 106 มาตรฐาน เช่น ลิฟต์โดยสารและลิฟต์ที่ใช้ขนของ สายไฟแรงสูง สวิตช์ไฟ ที่ติดกับสายไฟ เครื่องล้างจานเชิงพาณิชย์ แบตเตอรี่รถไฮบริด บอลลูนขยายหลอดเลือด ยางปิดช่องว่างระหว่างชานชาลากับขบวนรถขนส่งทางราง ยานยนต์ที่ติดตั้งระบบเบรกฉุกเฉินขั้นสูง หม้อหุงข้าวและเตารีดประหยัดพลังงาน หมอนยางพารา น้ำมันหอมระเหยขิงไทย เป็นต้น รวมทั้งเห็นชอบรายชื่อมาตรฐานที่จะจัดทำในปี 2567 เพิ่มเติมอีก จำนวน 349 มาตรฐาน
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐานนี้ครอบคลุมภาชนะสแตนเลสที่สัมผัสโดยตรงกับอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 7 รายการ ได้แก่ หม้อ กระทะ ตะหลิว ช้อน ส้อม ถาดหลุมใส่อาหาร และปิ่นโต แต่ไม่ครอบคลุมอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้ากลุ่มดังกล่าวได้อย่างครบถ้วน เพราะสินค้าเหล่านี้มีการใช้งานแพร่หลายมาก โดยเฉพาะในโรงพยาบาล และโรงเรียน โดยมีข้อกำหนดที่สำคัญ คือ การควบคุมปริมาณโลหะหนัก ได้แก่ โครเมียม นิกเกิล ตะกั่ว แคดเมียม สารหนู และโมลิบดินัม ให้อยู่ในเกณฑ์ที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพผู้บริโภค หลังจากนี้ สมอ. จะเร่งดำเนินการประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมภายในปี 2567 ซึ่งจะมีผลให้ทั้งผู้ทำและนำเข้าทุกราย จะต้องขออนุญาตก่อนทำหรือนำเข้า และจะต้องแสดงเครื่องหมายมาตรฐานที่สินค้าทุกชิ้น หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมาย โดยผู้ทำหรือนำเข้าสินค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ