สสส.ปลุก “เยาวชนภูเก็ต” รู้ทันพิษบุหรี่ไฟฟ้า ประกาศร่วมป้องกัน “นักสูบหน้าใหม่”

ja(6)-min

สสส.ปลุก “เยาวชนภูเก็ต” รู้ทันพิษบุหรี่ไฟฟ้า ประกาศร่วมป้องกัน “นักสูบหน้าใหม่” หลังพบในพื้นที่ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าเกลื่อนเมือง นศ.สูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 19.2% ซื้อเองผ่านร้านค้า-ออนไลน์

ที่หอประชุมพุดพิชญา โรงเรียนเทศบาล 2 บ้านกระทู้ จ.ภูเก็ต โครงการเครือข่ายนักสื่อสารรุ่นใหม่ (New Gen Communicator – NGC) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเทศบาลเมืองกระทู้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต จัดงาน “เวทีสาธารณะนักสื่อสารรุ่นใหม่ รู้เท่าทันภัยผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดภูเก็ต” โดยมีเด็กและเยาวชนกว่า 200 คน จากสถานศึกษาในจ.ภูเก็ตเข้าร่วมกิจกรรม และร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการสื่อสารเพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่

นายจิรวัฒน์ บุญรักษ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวเปิดกิจกรรมว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบเป็นภัยร้ายทั้งตัวผู้สูบเอง รวมถึงคนรอบข้างและสังคมจากควันบุหรี่มือสองทำให้เจ็บป่วยได้เหมือนผู้สูบ สิ่งที่น่ากังวล คือ เด็กและเยาวชนกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก จากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับพื้นที่ จ.ภูเก็ต ก็น่าเป็นห่วง เพราะแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 10 ล้านคน ทำให้มีผู้ที่ไม่หวังดีกระทำการผิดกฎหมายลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้า เฉพาะเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา สามารถจับกุมร้านขายบุหรี่เถื่อนและบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงสุราผิดกฎหมายได้ 6 ร้าน ใน อ.เมือง และ อ.กะกู้ มูลค่าความเสียหายกว่า 500 ล้านบาท โดยพบว่ามีการทำกันเป็นกระบวนการ บางสาขาอยู่ห่างจากโรงเรียนเพียง 50 เมตร และบางร้านเปิดอยู่ในย่านตลาด ชุมชนดาวน์ทาวน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ย่านเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต

“สิ่งผิดกฎหมายกำลังเซาะกร่อนบ่อนทำลายสังคมอยู่รอบตัว เป็นชนวนเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ในสังคมตามมา และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหาแนวทางหรือวิธีการ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้ทราบถึงโทษและพิษภัยของผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า การจัดงานในวันนี้ ถือเป็นการกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ในสังคมได้รับรู้ และเข้าใจถึงโทษและพิษภัยของผลิตภัณฑ์ยาสูบ และจะร่วมกันในการลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ได้ต่อไป” นายจิรวัฒน์ กล่าว

ด้านนางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า จากผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย ปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา สำรวจนักเรียนอายุ 13-15 ปี จำนวน 6,752 คน ในโรงเรียน 87 แห่ง พบว่า 1.เด็กและเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 3.3% ในปี 2558 เป็น 17.6% ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า 2.กลยุทธ์ทางการตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์มุ่งเน้นไปที่เด็กและเยาวชนมากขึ้น มีการพบเห็นโฆษณาและการส่งเสริมการขายทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจาก 27% ในปี 2558 เป็น 48% ในปี 2565 และ 3.นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อบุหรี่ซอง/บุหรี่ไฟฟ้าที่มีรสชาติ โดย 31.1% เห็นด้วยว่าทำให้สูบง่ายกว่าบุหรี่ธรรมดา และ 36.5% เห็นด้วยว่าจะทำให้เด็กและวัยรุ่นสนใจการสูบมากขึ้น

“ขณะที่สถานการณ์ใน จ.ภูเก็ต ผลสำรวจปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพด้านบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ปี 2566 โครงการสานพลังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รณรงค์และจัดการความรู้ ลดปัจจัยเสี่ยงในมหาวิทยาลัยและชุมชน วิทยาเขตภูเก็ต สำรวจนักศึกษา 291 คน พบสูบบุหรี่ 8.5% สูบบุหรี่ไฟฟ้า 19.2% ช่วงอายุที่เริ่มสูบบุหรี่คือ 12-15 ปี มากถึง 5.4 % สูบบุหรี่ไฟฟ้าช่วงอายุ 16-20 ปี สูง 87.5% โดยซื้อเองจากร้านค้า/ร้านค้าออนไลน์ เงินที่จ่ายต่อสัปดาห์คือ 50-200 บาท โดยมีความตั้งใจเลิกสูบ 64.3%” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว

นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนมาตรการเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า คือ 1.คงมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าและควรลงนามในพิธีสารว่าด้วยการขจัดการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมายขององค์การอนามัยโลก เพื่อยกระดับการควบคุมและปราบปรามบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย 2.บังคับใช้กฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการดำเนินคดีจับปรับ การห้ามโฆษณาและจำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์ 3.สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนสื่อสารรณรงค์ เผยแพร่ข้อมูล/ข้อเท็จจริงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ รู้เท่าทันกลยุทธ์อุตสาหกรรมยาสูบ และเพิ่มภูมิคุ้มกันในการป้องกันการสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน

ด้านนางสาวยศวดี ดิสสระ ผู้อำนวยการโครงการนักสื่อสารรุ่นใหม่ รู้เท่าทันภัยผลิตภัณฑ์ยาสูบ กล่าวว่า ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนเป็นนักสูบหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า จากการสำรวจนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาและระดับปริญญากว่า 2,000 คน พบว่า 1 ใน 3 หรือกว่า 30% เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างน้อย 1 ครั้ง นักศึกษาในมหาวิทยาลัยกว่า 60% มีอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า ขณะที่บริษัทบุหรี่มีกลยุทธ์การตลาดโดยพัฒนารูปแบบบุหรี่ไฟฟ้าให้เข้าถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนมากขึ้น ทั้งรูปแบบที่พกพาสะดวก ทันสมัย น้ำยาที่มีกลิ่นและรสชาติหลากหลาย การโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์หรือใช้ Influencer ในโซเชียลมีเดีย ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมกันขับเคลื่อนงานเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อ

 

แท็ก