สำนักข่าวซินหัว อ้างรายงาน ผลการวิเคราะห์จากองค์การนาซา (NASA) ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (11 มิ.ย.) ระบุว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกช่วง 12 เดือนก่อนแต่ละเดือน พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
“สิ่งนี้บ่งชี้ชัดเจนว่าเรากำลังประสบกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ” บิล เนลสัน ผู้บริหารของนาซากล่าว พร้อมเสริมว่าชุมชนต่างๆ ทั่วโลกรับรู้ได้ถึงความร้อนสุดขั้วในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ผลการวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกช่วง 12 เดือนก่อนอยู่ที่ 2.34 องศาฟาเรนไฮต์ (1.30 องศาเซลเซียส) สูงกว่าค่าฐานของช่วงศตวรรษที่ 20 (ปี 1951-1980)
เมื่อพิจารณาค่าอุณหภูมิจากเครือข่ายสถานีตรวจอากาศขนาดใหญ่บนบกและอุปกรณ์ในมหาสมุทร คณะนักวิทยาศาสตร์พบว่าระดับอุณหภูมิสูงทุบสถิติที่บันทึกได้นั้นเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มการเกิดภาวะโลกร้อนในระยะยาว ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“เรากำลังเผชิญกับวันที่มีอากาศร้อนมากขึ้น เดือนที่ร้อนมากขึ้น และปีที่ร้อนมากขึ้น” เคท คาลวิน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์และที่ปรึกษาอาวุโสด้านสภาพอากาศของนาซากล่าว โดยชี้ว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้เป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนและระบบนิเวศทั่วโลก
แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอด 4 ทศวรรษ โดยเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ที่เป็นช่วง 10 ปีที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกอุณหภูมิในช่วงปลายศตวรรษที่ 19