สำนักข่าวซินหัว อ้างรายงาน การวิจัยที่ดำเนินการโดยนักวิทยาศาสตร์ด้านการนอนหลับจากมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์สในรัฐเซาธ์ออสเตรเลียของออสเตรเลีย พบความเชื่อมโยงระหว่างการนอนกรนและภาวะความดันโลหิตสูง โดยผู้ที่นอนกรนเป็นประจำตอนกลางคืนมีแนวโน้มที่จะมีระดับความดันโลหิตสูง และมีภาวะความดันโลหิตสูงแบบควบคุมไม่ได้ (uncontrolled hypertension)
ภาวะความดันโลหิตสูง เกิดขึ้นเมื่อความดันในหลอดเลือดของบุคคลนั้นสูงเกินไป อาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อหัวใจ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหัวใจล้มเหลว และโรคหัวใจ
การศึกษาดังกล่าวพบว่าร้อยละ 15 ของผู้เข้าร่วม 12,287 คน นอนกรนเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 20 ของช่วงเวลากลางคืน ตลอดระยะเวลาการติดตามผล 6 เดือน โดยผู้ที่มีอาการนอนกรนรุนแรงจะมีค่าแรงดันในหลอดเลือดแดงขณะหัวใจบีบตัว 3.8 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) และมีค่าแรงดันในหลอดเลือดแดงขณะหัวใจคลายตัว 4.5 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งมากกว่าผู้เข้าร่วมที่ไม่มีอาการนอนกรน
การศึกษาครั้งนี้ใช้หลายเทคโนโลยีเพื่อทำการติดตามที่บ้านตอนกลางคืนในระยะเวลานานเป็นครั้งแรก เพื่อตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างการนอนกรนและภาวะความดันโลหิตสูง โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาอยู่ในวัยกลางคน ซึ่งร้อยละ 88 เป็นผู้ชาย
เมื่อวันพุธ (19 มิ.ย.) บาสเตียน เลชาต์ ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์และสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยฯ เปิดเผยว่าการศึกษาข้างต้นสามารถระบุได้ชัดเจนเป็นครั้งแรกว่าการนอนกรนตอนกลางคืนเป็นประจำนั้นเชื่อมโยงกับภาวะความดันโลหิตสูงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งเน้นย้ำการให้ความสำคัญกับการนอนกรนในฐานะปัจจัยเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและการรักษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ โดยเฉพาะในบริบทของการจัดการกับภาวะความดันโลหิตสูง
อนึ่ง องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่าผู้ใหญ่ทั่วโลกอายุระหว่าง 30-79 ปี มีภาวะความดันโลกหิตสูงจำนวนถึง 1.28 พันล้านคน และผู้ใหญ่ร้อยละ 46 ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงไม่ทราบว่าตนมีภาวะดังกล่าว