นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล หรือดิจิทัลวอลเล็ต ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมนำเสนอคณะกรรมการดิจิทัล วอลเล็ตชุดใหญ่ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 15 กรกฎาคมนี้ รวมทั้งการแถลงใหญ่วันที่ 24 กรกฎาคม โดยนายกรัฐมนตรีจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 กรกฎาคมนี้ รายละเอียดโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะแถลงในวันที่ 24 กรกฎาคม อาทิ ไทม์ไลน์ การยืนยันตัวตน KYC หรือ Know Your Customer การลงทะเบียน ทั้งส่วนของประชาชนและร้านค้า เป็น KYM หรือ Know Your Merchant ระบบของแอปพลิเคชัน ทางรัฐสามารถเข้าไปทำ KYC ล่วงหน้าได้แล้ว มีประชาชนเข้าไปดำเนินการแล้วกว่าล้านคน ส่วนระบบการใช้จ่ายต่างๆ ยืนยันเสร็จทันและจะเริ่มใช้จ่ายในไตรมาส 4 ปี 2567 ตามกำหนดเดิม
.
ทั้งนี้ นายจุลพันธ์ ระบุว่าเรื่องสำคัญการประชุมครั้งนี้ คือกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ จัดทำข้อเสนอเรื่องแหล่งเงินในโครงการใหม่ เพื่อให้ไม่เป็นการตั้งงบประมาณมากเกินความจำเป็น จึงเสนอให้เตรียมวงเงินไว้ 90% ของวงเงิน 5 แสนล้านบาท หรือ 4.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็น
.
1.งบประมาณปี 2567 จำนวน 1.65 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท และงบประมาณจากการการบริหารจัดการในปีงบ 2567 อีก 4.3 หมื่นล้านบาท
.
2.งบประมาณปี 2568 จำนวน 2.85 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณจัดสรรให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตไว้แล้ว 152,700 ล้านบาท และบริหารจัดการเพิ่มเติมในปีงบ 2568 อีก 132,300 ล้านบาท
.
โดยยืนยันว่ากลุ่มเป้าหมายตามโครงการยังคงเท่าเดิมคือ 50 ล้านคน เตรียมเงินไว้เพียง 4.5 แสนล้านบาท เพื่อไม่ให้เสียโอกาสเพราะที่ผ่านมาโครงการรัฐจะมีประชาชนเข้ามา 80-90% เท่านั้น ไม่ครบ 100% แต่จะต้องสรุปยอดผู้ลงทะเบียนจริงช่วงปิดรับลงทะเบียน ราวสิ้นเดือนกันยายน 2567 รัฐบาลจะเตรียมวงเงินตามจำนวนผู้ลงทะเบียนจริง ได้ครบ 10,000 บาท ทุกคนแน่นอน
.
ส่วนกรณีแหล่งเงินจาก ธ.ก.ส.ยังไม่มีการตัดทิ้ง ยังคงเป็นทางเลือกอยู่ หากมีคนลงทะเบียนถึง 50 ล้านคนจริง ก็ยังเป็นแหล่งเงินตัวเลือกนำมาใช้ได้ อย่างไรก็ดี เวลาได้ผ่านมาระดับหนึ่ง พอมาถึงวันนี้ทำให้มองเห็นงบประมาณชัดเจนขึ้น อาทิ งบปี 2567 เห็นมีเงินยังเหลือเท่าไหร่ ดูแล้วว่าสามารถบริหารจัดการได้โดยใช้แค่เงินในกรอบงบประมาณ ก็เลยจัดทำขึ้นเป็นข้อเสนอนี้
.
สำหรับคุณสมบัติผู้เข้าเกณฑ์ยังคงเดิม คือผู้มีสิทธิต้องเป็นคนสัญชาติไทย อายุ 16 ปีบริบูรณ์ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 มีเงินฝากนับรวมเงินฝากสกุลเงินบาททุกบัญชี ไม่เกิน 500,000 บาท นับถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 โดยไม่นับรวมสลากออมทรัพย์ สลากออมสิน และมีรายได้ไม่เกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี หรือไม่เกิน 70,000 บาท ต่อเดือน เก็บข้อมูลจากกรมสรรพากร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566