‘ดีอี’ เดินหน้าพัฒนา ‘ระบบราชการไทย’ ผลักดัน ‘รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์’ วางเป้าหมายยกระดับประเทศไทย ต่ำกว่าอันดับที่ 40 ของโลก
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2567-2570) ที่เสนอโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยได้มอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินภารกิจของหน่วยงานนั้น ร่างยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว ได้มีการกำหนดเป้าหมายให้ ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index: EGDI) ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 40 ของโลก และมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 0.82 (คะแนนเต็ม 1) ซึ่งจากการประเมิน ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 193 ประเทศ โดยองค์การสหประชาชาติ ในปี 2565 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 55 (คะแนน 0.766 คะแนน)
.
สำหรับอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (IMD Competitiveness Ranking) ด้านประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Effectiveness) ได้กำหนดค่าเป้าหมายไว้ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 20 เพื่อให้ใกล้เคียงกับอันดับของประเทศไทยในช่วงปี 2563-2564 ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 23 และ 20
.
ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้กำหนดนโยบายการเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน โดยได้มุ่งมั่นพัฒนาและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายในองค์กร การเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลด้านความมั่นคง การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย พร้อมทั้งการสร้างความตระหนักรู้ และองค์ความรู้ในการใช้งานดิจิทัลในภาคประชาชน รวมไปถึงการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานดิจิทัลของภาครัฐ และประชาชน การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งเป็นภัยคุกคามและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ประกอบด้วย
.
1.การใช้ระบบ Paper less ในการบริหารจัดการภายในหน่วยงานขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยลดการใช้กระดาษในระบบงานให้เหลือน้อยที่สุด และใช้การจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบ Cloud ซึ่งมีความปลอดภัย สามารถบริหารจัดการข้อมูลได้สะดวก
.
2.การให้บริการประชาชน โดยประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัล สนับสนุนการให้บริการประชาชน ให้มีความสะดวก รวดเร็ว มั่นคงปลอดภัย บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านหน่วยงานภาครัฐ ด้วยระบบ Digital ID เชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพ Health Link ระหว่างโรงพยาบาล ร้านขายยา และสถานพยาบาลทั่วประเทศ โดยสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI การป้องกันและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC
.
3.การสร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมด้านดิจิทัล โดยสร้างองค์ความรู้ ความตระหนักรู้การใช้งานดิจิทัลในหน่วยงานราชการทั้งส่วนกลาง-ภูมิภาค และประชาชนทั่วประเทศ ผ่านการดำเนินงานของสำนักงานปลัดกระทรวง ดีอี และคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในรูปแบบของการสร้างโครงข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะทั่วประเทศ ภายใต้ “โครงการอินเทอร์เน็ตสาธารณะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต” จัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชน และพัฒนาอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) ให้ความรู้ด้านดิจิทัลกับประชาชนอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ การสร้างโครงข่ายบรอดแบรนด์ เพื่อเชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างประเทศ โดย บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT
.
นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนประชาชนในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัล การสร้างเมืองอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และการบริหารจัดการเมือง ด้านเกษตรอัจฉริยะ สนับสนุนพัฒนาทักษะของเยาวชน และคนรุ่นใหม่ หนุนการสร้าง Start up โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และสนับสนุนการทำธุรกิจด้านดิจิทัล การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA
.
4.การสร้างความมั่นคงปลอดภัย และความเชื่อมั่นในการใช้งานดิจิทัล ด้วยการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 ให้บริการรับเรื่องร้องเรียนภัยออนไลน์ตลอด 24 ชม. พร้อมกับการใช้เทคโนโลยี AI ในการตรวจสอบข้อมูล ติดตามเส้นทางการเงิน ฯลฯ รวมทั้งจัดตั้ง GCC 1111 ให้บริการสอบถามข้อมูลและรับเรื่องร้องเรียนภาครัฐ รวมถึงรับแจ้งเบาะแสข่าวปลอม อาชญากรรมออนไลน์
.
“กระทรวงดีอี พร้อมเป็นผู้นำด้านการเป็นรัฐบาลดิจิทัล สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการในหน่วยงานภาครัฐ การให้บริการประชาชน ลดความเหลื่อมและสร้างความทัดเทียมด้านดิจิทัลให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อเป้าหมายของการเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย ทั้งในด้านภาครัฐ สังคม และเศรษฐกิจ” นายประเสริฐ กล่าว