นายกฯ หนุนหน่วยงานรัฐสู่รัฐบาลดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน-บริการประชาชน

wewy (1)-min

นายกฯ หนุนรัฐบาลผลักดันหน่วยงานภาครัฐสู่รัฐบาลดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและบริการประชาชน พร้อมตั้งเป้าดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGDI) ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 40 ของโลก

นายชัย วัชรงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าผลจากการผลักดันการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ต่อยอดสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งผลักดันการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐได้อย่างครอบคลุม ซึ่งเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ (พ.ศ. 2567-2570) เพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ นำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงาน พร้อมกำหนดค่าเป้าหมายดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index: EGDI) ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 40 ของโลก ควบคู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (IMD Competitiveness Ranking) ด้านประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Effectiveness) ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 20 ของโลก

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว มีสาระสำคัญที่ระบุให้ ประเทศไทยเป็น รัฐที่ล้ำหน้า (Digital & Innovative Government) และรัฐที่เปิดกว้าง (Open Government) โดยมุ่งพัฒนาภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัลที่มีความทันสมัย สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาการทำงานและการให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมต่อการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น ซึ่งล่าสุดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กำหนดนโยบายให้กระทรวงดิจิทัลฯ เป็นหน่วยงานภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน พร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พัฒนาและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ใน 4 ด้านหลัก ได้แก่

1) Paper Less ลดการใช้กระดาษให้เหลือน้อยที่สุด และใช้ระบบการจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบ Cloud ซึ่งมีความปลอดภัย บริหารข้อมูลได้รวดเร็ว
2) ประยุกต์การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านหน่วยงานรัฐด้วยระบบ Digital ID เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ระหว่างโรงพยาบาล ร้านขายยา และสถานพยาบาลทั่วประเทศ โดยจะประสานงานร่วมกับสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.)
3) สร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมด้านดิจิทัล ผลักดันเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ ภายใต้ “โครงการอินเทอร์เน็ตสาธารณะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต” พร้อมจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชน และพัฒนาอาสาสมัครดิจิทัล ให้ความรู้ด้านดิจิทัล สร้างโครงข่ายเชื่อมโยงการสื่อสารทั่วประเทศ โดยบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งพัฒนาทักษะของคนรุ่นใหม่ สร้าง Start up โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนสนับสนุนธุรกิจด้านดิจิทัล ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
4) สร้างความมั่นคงปลอดภัยและความเชื่อมั่นในการใช้งานดิจิทัล เร่งปราบปรามและจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 ให้บริการตลอด 24 ชม. รับเรื่องร้องเรียนภัยออนไลน์ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน GCC 1111 ให้บริการสอบถามข้อมูลและรับเรื่องร้องเรียนภาครัฐ แจ้งเบาะแสข่าวปลอม อาชญากรรมออนไลน์

ทั้งนี้ ภายใต้ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการฯ กำหนดค่าเป้าหมายให้ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGDI) ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 40 ของโลก และมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 0.82 (คะแนนเต็ม 1) ซึ่งจากการประเมินครั้งล่าสุดโดยองค์การสหประชาชาติ ปี 2565 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 55 (คะแนน 0.766 คะแนน) ของดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 193 ประเทศ (https://publicadministration.un.org/egovkb/en-us/Data/Country-Information/id/169-Thailand) ขณะที่ด้านอันดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (IMD Competitiveness Ranking) กำหนดค่าเป้าหมายให้ด้านประสิทธิภาพภาครัฐ ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 20 ซึ่งปัจจุบันสถาบัน IMD จัดประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 24 คะแนน 55.1 ของปี 2567 ()”>https://www.imd.org/entity-profile/thailand-wcr/#_yearbook_Government%20Efficiency)

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าการผลักดันความพร้อมของภาครัฐในการมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของประเทศ เท่าทันสังคมเทคโนโลยีและนวัตกรรม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานระหว่างหน่วยงาน พร้อมกับการให้บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน อำนวยความสะดวกให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงบริการสาธารณะ และประโยชน์ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง เพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศที่ทันสมัย ก้าวหน้าทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นศูนย์กลางที่สำคัญของภูมิภาค” นายชัย กล่าว

 

แท็ก