อ.ธรณ์ ชี้ “ปลาหมอคางดำ” กำจัดไม่หมด ต้องหาทางอยู่ร่วม-ลดความเสียหาย

wewy (2)-min

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กถึงการกำจัดปลาหมอคางดำ ว่าคงต้องยอมรับว่าเมื่อเอเลี่ยนเข้าไปอยู่ในธรรมชาติถึงระดับหนึ่งแล้ว การจัดการให้หมดจนไม่มีเหลือ เป็นเรื่องที่เป็นไปแทบไม่ได้ ตัวอย่างง่ายๆ คือปลาซัคเกอร์ที่ยังมีอยู่ในบ้านเรา หรือปลาช่อนในอเมริกา

การจัดการปลาหมอคือการพยายามลดผลกระทบให้มากสุด ผลกระทบแบ่งง่ายๆ เป็น2 แบบ คือ ระบบนิเวศและการทำมาหากินของผู้คน ปลาหมอคางดำเข้าไปในระบบนิเวศ กินสัตว์น้ำอื่น ส่งผลรุนแรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ปลาเข้าไปในบ่อบึง ส่งผลต่อกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ปลาเข้าไปในแหล่งประมง ทำให้สัตว์น้ำเศรษฐกิจหายไป ชาวประมงพื้นบ้านจับได้แต่ปลาหมอราคาต่ำ

การจัดการด้านพื้นที่คือคุมการระบาดให้มากที่สุด แบ่งพื้นที่ง่ายๆ เป็นเขตหลัก (อ่าวไทยตัวก.) เขตรองที่เป็นหย่อมๆ กระจายออกไปทั้งในแผ่นดินและในทะเล และเขตที่ปลายากไปถึง (เช่น เกาะต่างๆ แหล่งน้ำที่ไม่เชื่อมต่อกับแหล่งอื่น) เขตหลักต้องเน้นการลดจำนวนปลาหมอ เขตรองต้องคุมไม่ให้ขยายออกไปข้างๆ เพิ่มขึ้น เขตไม่มีปลาไปถึงตามธรรมชาติ ต้องคุมไว้ให้ได้

การลดจำนวนแบบง่ายๆ คือจับเท่าที่ทำได้ นำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ คณะประมงพยายามทำ #เมนูกู้แหล่งน้ำ ทั้งทำสดและผลิตภัณฑ์ ยังรวมถึงการนำมาใช้ประโยชน์อื่นๆ ที่คงต้องหาทางกันไป

ยังมีวิธีการคือส่งผู้ล่าลงไปจัดการ ผู้ล่าต้องมี 3 คุณสมบัติ ได้แก่ ปลาท้องถิ่น มีประโยชน์ หาได้ในจำนวนมาก ท้องถิ่น หมายถึงมีอยู่แล้ว จะไม่ส่งเอเลี่ยนไปกินเอเลี่ยน ไม่งั้นอาจเกิดปัญหาหนักขึ้น ลองศึกษาเรื่องด้วงอ้อยและคางคกยักษ์ในออสเตรเลียคงเข้าใจ มีประโยชน์ หมายถึงต่อให้ไม่กินปลาหมอหรือกินได้ไม่เยอะ คนก็ยังจับมากินมาขายได้ หาได้เยอะ หมายถึงเราต้องรวบรวมพันธุ์ปลาได้มากพอ ไม่งั้นก็คงได้แต่คิด นั่นอาจเป็นที่มาของปล่อยปลากะพงกินปลาหมอ เพราะปลากะพงขาวมีคุณสมบัติครบ

อย่างไรก็ตาม เราต้องศึกษาอีกเยอะ เช่น จะกินปลาอื่นไหม กินปลาหมอได้แค่ไหน ไซส์ไหนถึงเหมาะ ถ้ามีปลาหมอแค่นี้ควรปล่อยแค่ไหน ฯลฯ การปล่อยปลาจึงต้องระมัดระวังผลกระทบข้างเคียง และศึกษาพื้นที่ให้แน่ชัดว่าจะควบคุมได้

สุดท้ายคือการยกเครื่องระบบเพื่อล้อมคอกหลังวัวหาย ซึ่งคงต้องทำต่อไปอย่างจริงจัง ยังมีอีกหลายวิธี มีหลายผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกัน อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่า มาถึงขั้นนี้แล้ว เราต้องหาทางอยู่ร่วมกับปลาหมอคางดำต่อไป และพยายามลดความเสียหายให้มากที่สุด

 

แท็ก