สำนักข่าวซินหัว รายงาน เมื่อวันจันทร์ (15 ก.ค.) ที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีน ช่วงครึ่งแรก (มกราคม-มิถุนายน) ของปีนี้ อยู่ที่ราว 61.68 ล้านล้านหยวน (ราว 308 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบปีต่อปี
รายงานระบุว่าจีดีพีของจีนในช่วงไตรมาสที่สอง (เมษายน-มิถุนายน) ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบปีต่อปี และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส
“เศรษฐกิจจีนในภาพรวมยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างมีเสถียรภาพในช่วงครึ่งปีแรก” สำนักงานฯ กล่าวในแถลงการณ์ว่าด้วยผลประกอบการทางเศรษฐกิจ โดยอ้างอิงการสนับสนุนจากแรงจูงใจเชิงนโยบาย การฟื้นตัวของความต้องการจากภายนอก และการพัฒนาพลังการผลิตใหม่ที่มีคุณภาพ
อุตสาหกรรมขั้นทุติยภูมิขยายตัวร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบปีต่อปีในช่วงครึ่งปีแรก แซงหน้าการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ของอุตสาหกรรมขั้นปฐมภูมิ และร้อยละ 4.6 ในภาคบริการ
การบริโภคยังคงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโต โดยการบริโภคขั้นสุดท้ายมีส่วนส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 60.5 ในช่วงครึ่งปีแรก และมีส่วนส่งเสริมการเติบโตของจีดีพีอยู่ที่ 3 จุด
ส่วนอัตราการว่างงานในพื้นที่เมืองกลุ่มสำรวจของจีนอยู่ที่ร้อยละ 5.1 ในช่วงครึ่งปีแรก ลดลง 0.2 จุดจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
รายงานระบุว่าการเติบโตดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่าย เนื่องจากเศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกเผชิญกับสภาพแวดล้อมภายนอกที่ไม่แน่นอน ซับซ้อน และรุนแรงมากยิ่งขึ้น รวมถึงความท้าทายใหม่ๆ จากการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างภายในประเทศอย่างลึกซึ้ง
สำนักงานฯ มองว่าการเติบโตที่ชะลอตัวในไตรมาสสองเป็นผลจากปัจจัยในระยะสั้น อาทิ สภาพอากาศสุดขั้วและอุทกภัย และยังสะท้อนถึงความท้าทายที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอุปสงค์ที่เกิดขึ้นจริง (effective demand) ที่ไม่เพียงพอ และกระแสการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในประเทศที่ไม่ราบรื่น
สำนักงานฯ กล่าวทิ้งท้ายว่ามุมมองเบื้องต้น ระยะกลาง จนถึงมุมมองระยะยาว บ่งชี้ว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในการรักษาการเติบโตในระยะยาวยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และแนวโน้มสู่การพัฒนาที่มีคุณภาพสูงยังคงไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยเศรษฐกิจจีนยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตทั่วโลก