“สุรเชษฐ์” ถาม รฟม. ‘ส่วนต่าง’ สายสีส้ม 68,613 ล้านบาทหายไปไหน หลัง ครม. เห็นชอบ เตรียมลงนามสัญญา BEM. ชี้นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ต้องแก้สัญญาก่อนเซ็นตกลงราคา ไม่เช่นนั้นเท่ากับยกเงินเพิ่มให้เอกชนอีกก้อนใหญ่จากนโยบายรัฐ
.
ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เมื่อช่วงเย็นวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 มีการพิจารณางบประมาณกระทรวงคมนาคม โดยช่วงหนึ่ง นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ ได้ตั้งคำถามต่อการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งในวันเดียวกัน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก จะมีการลงนามในสัญญาวันที่ 18 กรกฎาคมนี้
.
นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ในแต่ละปีงบประมาณ กรรมาธิการตัดงบเพื่อประหยัดภาษีให้พี่น้องประชาชนก็อาจได้หลักหมื่นหรือสองหมื่นล้านบาท แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับ รฟม. ในโครงการรถไฟสายสีส้ม มีเงินหายไปกว่า 68,000 ล้านบาท จึงต้องถามว่าเกิดอะไรขึ้น เรื่องนี้ตนเคยอภิปรายในสภาฯ และแถลงข่าวแล้ว แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าส่วนต่างที่เป็นไปตามข่าวนั้น มีอยู่จริงอย่างแจ่มชัด
.
โดยเท้าความเดิมกรณีค่าโกงรถไฟฟ้าสายสีส้ม ว่าการประมูลทั้ง 2 ครั้งในปี 2563 และปี 2565 สร้างสิ่งเดียวกันคือรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีระยะทางและจำนวนสถานีเท่าเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าการประมูลเมื่อปี 2563 เป็นไปตามกระบวนการปกติ ไม่ถูกล้มประมูล บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS จะเป็นผู้ชนะ โดยขอเงินอุดหนุนจากรัฐ 9,675 ล้านบาท แต่เมื่อล้มประมูล แล้วประมูลใหม่ในปี 2565 กลุ่ม BEM ชนะการประมูลโดย BTS ไม่ได้เข้าแข่งขัน ทั้งๆ ที่เราก็รู้กันดีว่ามี 2 เจ้าใหญ่ในตลาดปัจจุบัน ทำให้รัฐต้องอุดหนุนมากถึง 78,288 ล้านบาท มีส่วนต่างเกิดขึ้น 68,613 ล้านบาท
.
ในการประมูลรอบแรก ข้อเสนอของ BTS ที่ยื่นต่อ รฟม. ตั้งแต่ปีที่ 1-34 ในปีแรกๆ เงินอุดหนุนที่รัฐต้องให้เพื่อดำเนินงานก่อสร้าง คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันทั้งสิ้น 79,820 ล้านบาท นี่คือก้อนที่หนึ่ง โดยในปีแรกๆ ของการเดินรถ จะยังไม่มีกำไร ยังไม่สามารถตอบแทนคืนรัฐ จนกระทั่งปีที่ 20 จึงเริ่มตอบแทน และเมื่อถึงปีที่ 34 คิดมูลค่าผลตอบแทนคืนรัฐรวม 70,145 ล้านบาท นี่คือก้อนที่สอง พูดง่ายๆ คือขอเงินรัฐมาก่อน จากนั้นค่อยจ่ายคืน เท่ากับว่าจำนวนที่รัฐต้องจ่ายจริงคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 9,675 ล้านบาท
.
“ต้องย้ำว่าที่พูดเรื่องนี้ไม่ได้จะช่วยใครทั้งสิ้น ผมตรวจสอบ BTS เรื่องการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเช่นกัน แต่เราต้องพูดในเชิงหลักการว่าในประเทศนี้มีผู้ดำเนินการเจ้าใหญ่เพียง 2 เจ้า คือกลุ่ม BTS กับกลุ่ม BEM ดังนั้น หน้าที่ของเราในการประหยัดเงินภาษีประชาชน คือทำให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม” นายสุรเชษฐ์ กล่าว
.
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า เมื่อเทียบกับข้อเสนอของกลุ่ม BEM พบว่าปีที่ 3 จะขอเงินอุดหนุนจากรัฐ 20,223 ล้านบาท เมื่อรวมไปเรื่อยๆ ถึงปีที่ 34 ขอเงินรัฐอุดหนุนการก่อสร้างรวม 81,871 ล้านบาท เป็นก้อนที่หนึ่ง ในรูปแบบเดียวกัน เมื่อเริ่มดำเนินการยังไม่ได้กำไร จะเริ่มจ่ายคืนรัฐปีที่ 14 จนถึงปีที่ 34 คิดเป็นมูลค่าผลตอบแทนรวม 3,583 ล้านบาท เป็นก้อนที่สอง เท่ากับโดยรวมรัฐอุดหนุนโครงการนี้ 78,288 ล้านบาท
.
เมื่อเทียบข้อมูลระหว่าง 2 กลุ่ม จะพบว่าราคาค่าก่อสร้างแทบไม่ต่างกัน ส่วนที่แตกต่างจริงๆ คือการคืนกำไรให้รัฐ เจ้าหนึ่งจะคืนให้รัฐกว่า 7 หมื่นล้าน แต่อีกเจ้าคืนประมาณ 3,583 ล้านบาท โดยกลุ่ม BTS รัฐต้องอุดหนุน 9,675 ล้านบาท ขณะที่กลุ่ม BEM รัฐต้องอุดหนุน 78,288 ล้านบาท เมื่อนำสองจำนวนนี้มาลบกัน จึงเป็นส่วนต่างกว่า 68,000 ล้านบาทที่เป็นมูลค่าปัจจุบัน เงินจำนวนนี้มากกว่าเงินที่ กมธ.งบฯ พยายามตัดงบของทุกหน่วยงานในแต่ละปีเสียอีก
.
นายสุรเชษฐ์ สรุปปัญหาค่าส่วนต่างของรถไฟฟ้าสายสีส้ม แบ่งเป็น 5 กระบวนท่าคือ (1) เตรียมเค้กชิ้นใหญ่ (2) ล็อกเป้าเอาไว้ (3) เตะตัดขาผ่านการล้มประมูลปี 2563 (4) พอจะประมูลใหม่ในปี 2565 ก็ฆ่าตัดตอน ไม่ให้อีกเจ้าเข้ามา (5) จบด้วยการรอทอนส่วนแบ่งอะไรหรือไม่ รวมเป็นปรากฏการณ์ฟอกขาว หรือทำให้ “ถูกต้องโดยทุจริต” จากเมกะโปรเจกต์จึงกลายเป็นเมกะดีล
.
จึงขอตั้งคำถาม 2 ข้อ (1) ส่วนต่าง 68,613 ล้านบาทหายไปไหน และคณะกรรมการที่ควรต้องเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของชาติ ได้อะไรมาบ้าง ลดไปเท่าไรหลังการต่อรอง (2) นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ซึ่งรัฐบาลบอกว่าจะใช้วิธีเจรจาเพื่อลดราคา ได้มีการเจรจาจริงหรือไม่ ตนสงสัยว่าเหตุใดไม่เจรจาลดราคาก่อนเซ็น ไม่ใช่เซ็นบนร่างเดิมซึ่งตนทราบว่าไม่ใช่ราคา 20 บาท
.
สมมติต้นทุนเฉลี่ยเป็น 35 บาทต่อผู้ใช้ ถ้าบอกว่าจะลดราคาเหลือ 20 บาท เท่ากับทุกเที่ยวการเดินทาง รัฐต้องอุดหนุนเพิ่ม 15 บาท อันเป็นการสร้าง induced demand จูงใจให้คนต้องการใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นจริงแต่ก็เป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนเจ้าของสัมปทานเพิ่มเติมจากข้อตกลงตามสัญญา เช่นหากมีความต้องการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเพิ่ม 50,000 เที่ยวต่อวัน เอกชนจะได้เงินเพิ่มฟรีๆ 1,750,000 บาท ต่อวัน หรือ 639 ล้านบาทต่อปี หากเซ็นวันนี้ด้วยร่างสัญญาเดิม เอกชนจะได้เงินเพิ่มไปฟรีๆ จากนโยบาย 20 บาทตลอดสาย ซึ่งผิดจากที่รัฐบาลหาเสียงไว้ว่าจะ “เจรจาเพื่อลดราคา” ไม่ได้จะเทเงินไปเพิ่มให้นายทุนแบบนี้ จึงขอให้หน่วยงานคำนึงถึงความคุ้มค่าและความโปร่งใสในการดำเนินงาน
.
จากนั้น นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการฯ รักษาการผู้ว่าการ รฟม. ตอบคำถามของนายสุรเชษฐ์ว่า การดำเนินการสายสีส้มที่ผ่านมาดำเนินการตามกระบวนการ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 ระหว่างการคัดเลือกมีการฟ้องร้องคดีทั้งครั้งแรกและครั้งที่สอง ทุกคดีไปที่ศาลปกครองสูงสุด ศาลฯ พิจารณายกฟ้องทั้งหมด โดยในการคัดเลือกรอบที่ 2 ไม่ได้รับข้อเสนอจากกลุ่ม BTS เนื่องจากไม่ได้ร่วมแข่งขัน
.
ด้านนายสุรเชษฐ์ ย้ำคำถามเรื่องค่าส่วนต่าง 68,613 ล้านบาท หายไปไหน รองผู้ว่าฯ รฟม. ตอบเหมือนไม่รับรู้เพราะมีการล้มประมูลไปก่อน จึงขอให้ทำเอกสารการคำนวณจากผลการเจรจาของคณะกรรมการฯ ส่งให้ตนว่าลดส่วนต่างลงได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนกรณีนโยบาย 20 บาทตลอดสาย มีความคืบหน้าอย่างไร ได้มีการเจรจาเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ หรือว่ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรปล่อยให้เป็นไปตามร่างสัญญาเดิม ทำให้ค่าโดยสารอยู่ที่ 15-44 บาท โดยล็อกแค่ 10 ปี หลังจากนั้นจะปรับตามเงินเฟ้อแต่บนฐานของ 20-62 บาท ซึ่งจะทำให้แพงขึ้นมาก อย่างก้าวกระโดด อันจะเป็นการหาเหตุให้มีการเจรจาขยายสัญญาสัมปทานอีกหรือไม่ ควรระมัดระวังให้ดีตั้งแต่ก่อนเซ็นสัญญาพรุ่งนี้
.
รองผู้ว่าการฯ รฟม. กล่าวว่า นโยบาย 20 บาทตลอดสาย ตอนนี้ยังอยู่ในกระบวนการ ส่วนค่าโดยสารที่จะเพิ่มขึ้นมากหลังปีที่ 10 เป็นผลการเจรจาร่วมกันระหว่างคณะกรรมการคัดเลือกและผู้ชนะการคัดเลือก จากนั้นสุรเชษฐ์กล่าวว่า ขอให้ตอบรายละเอียดทั้ง 2 คำถาม ส่งเป็นเอกสาร ส่วนเรื่องค่าโดยสารจะขึ้นก้าวกระโดดในปีที่ 10 ตนเห็นว่าเมื่อรู้ตั้งแต่วันนี้ว่าจะเกิดปัญหาก็ควรหาทางป้องกัน แต่ถ้าจะเร่งเซ็นกันไปแบบนี้ ทั้งๆ ที่ปล่อยคาราคาซังมานานแบบไม่ทำอะไร เชื่อว่าเมื่อถึงเวลา อีก 10 ปีข้างหน้า จะมีการหาเรื่องขยายสัญญาสัมปทานแน่นอนเพราะประชาชนจะเดือดร้อนอย่างหนัก หรือไม่รัฐก็ต้องเทเงินไปอุดหนุนเพิ่มอีกมหาศาล