โฆษก สธ. ชวนแสดงความเห็น ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการ สธ. แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากร

ja(1)-min

น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมืองเปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมการเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ…..เพื่อความเป็นอิสระและความคล่องตัวในการปฏิบัติงานโดยแยกออกมาจากการสังกัดสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)นั้น ขณะนี้ สธ.ได้เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นในประเด็นสำคัญ นั่นคือ การกำหนดให้มีคณะกรรมการข้าราชการสาธารณสุข (กสธ.) ทำหน้าที่เกี่ยวกับข้าราชการในสังกัดกระทรวง สธ. และบุคลากรอื่นในสังกัดกระทรวงสธ. มีรายละเอียด ดังนี้่
คณะกรรมการข้าราชการ สธ. ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสธ.เป็นประธาน, ปลัดสธ.เป็นรองประธาน, กรรมการได้แก่ อธิบดีกรมหรือตำแหน่งเทียบเท่าในสังกัด กระทรวงสธ. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 3 คนและกรรมการสายวิชาชีพจากการคัดเลือกกันเอง 6 คน

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ เช่น บรรจุ แต่งตั้ง โอนย้ายข้าราชการ, กำหนดตำแหน่ง จำนวนตำแหน่ง กรอบอัตรากำลัง เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มพิเศษ, ออกกฏกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ มติเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล, กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการวางแผนกำลังคนในราชการ กระทรวงสธ., เสนอแนะคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับค่าครองชีพ การจัดสวัสดิการหรือประโยชน์เกื้อกูลสำหรับข้าราชการ, กำหนดการเพิ่มพูนประสิทธิภาพ สร้างแรงจูงใจ ความก้าวหน้าแก่ข้าราชการ เป็นต้น

น.ส.ตรีชฎากล่าวว่า เหตุผลและความจำเป็นในการเสนอร่างพ.ร.บ.นี้เพื่อให้การบริหารงานบุคคลในรูปแบบคณะกรรมการ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการแพทย์ สาธารณสุข เข้าใจบริบทการปฏิบัติงานของกระทรวง สธ. ส่งผลให้การปฏิบัติงานมีความคล่องตัว มีอิสระในการบริหารจัดการกำลังคน เป็นเอกภาพในการบริหารงานบุคคลที่มีความหลากหลายวิชาชีัพ สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ความก้าวหน้า ความเหลื่อมล้ำของวิชาชีพ ระบบค่าตอบแทนและสวัสดิการ และเพื่อยกระดับกฎเกณฑ์การบริหารงานบุคคลให้เหมาะสม ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็เพื่อป้องกัน ควบคุม รักษาโรคภัย ฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชนให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงสธ. จึงแจ้งข่าวสารมายังผู้ได้รับผลกระทบกับร่างพ.ร.บ.นี้ ประกอบด้วยข้าราชการในสังกัดกระทรวงสธ. บุคลากรอื่นในสังกัดกระทรวงสธ.และประชาชน ได้แสดงความเห็นผ่านช่องทาง https://www.law.go.th/listeningDetail?survey_id=NDA1OURHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ= ภายในวันที่ 1 สิงหาคมนี้เพื่อ กระทรวงสาธารณสุขจะได้นำมาพิจารณา วิเคราะห์ ปรับแก้ ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

 

แท็ก