“ก้าวไกล” ชงร่างแก้ ป.อาญาเกี่ยวกับความผิดคุกคามทางเพศ ชี้กฎหมายเดิมไม่เป็นมิตรต่อผู้ถูกคุกคาม-นิยามไม่ครอบคลุม จึงเสนอแก้ไขให้ครอบคลุมการคุกคามทางเพศทุกมิติ รวมทั้งวาจา-จิตใจ-คุกคามออนไลน์ด้วย
.
วานนี้ (24 ก.ค.67) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ในกรณีความผิดที่เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ ซึ่งมีการนำเสนอร่างฯ จากทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคภูมิใจไทย โดย น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้นำเสนอร่างฯ ของพรรคก้าวไกล
.
น.ส.ภคมน เริ่มต้นอภิปรายว่า ปัญหาการคุกคามทางเพศในสังคมไทยมีมาต่อเนื่องยาวนาน จากสถิติข่าวเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศในปี 2565 มีข่าวความรุนแรงทางเพศในครอบครัวเกิดขึ้นสูงสุดถึง 67 ข่าว (31%) ข่าวข่มขืน 64 ข่าว (29.8%) และข่าวการทำอนาจาร 46 ข่าว (21.4%) สอดคล้องกับข้อมูลของมูลนิธิผู้หญิงที่รายงานว่ามีการโทรเข้าศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรณีความรุนแรงทางเพศในครอบครัวมากขึ้น โดยในปี 2563 มีการรับแจ้งเหตุมากกว่า 10,000 ครั้ง
.
สถิติจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ชี้ว่าระหว่างปี 2564-2566 มีเด็กและเยาวชนถูกล่วงละเมิดทางเพศกว่า 1,000 คน ขณะที่สถิติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปี 2563 มีรายงานคดีล่วงละเมิดทางเพศทั้งหมด 2,581 คดี โดยมีจำนวนคดีที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนมากถึง 1,028 คดี
.
การคุกคามทางเพศในที่ทำงานก็เช่นกัน จากการสำรวจโดยมูลนิธิหญิงไทยในปี 2564 พบว่า 52% ของผู้หญิงที่ทำงานในกรุงเทพฯ เคยถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน โดยส่วนใหญ่เป็นการคุกคามด้วยคำพูดหรือการสัมผัสที่ไม่เหมาะสม ขณะที่การคุกคามทางเพศออนไลน์ สถิติก็พบว่าในปี 2565 มีการร้องเรียนเรื่องการคุกคามทางเพศออนไลน์เพิ่มขึ้นกว่า 30% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยส่วนใหญ่เป็นการคุกคามผ่านข้อความหรือสื่อสังคมออนไลน์
.
นอกจากนี้ ในปี 2565 ยังพบว่า 17% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเคยถูกคุกคามทางเพศออนไลน์มาก่อน โดยแพลตฟอร์มที่มีการรายงานการคุกคามทางเพศสูงสุดในประเทศไทยได้แก่ เฟซบุ๊ก ไลน์ และอินสตาแกรม โดย 62% ของผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศออนไลน์ในประเทศไทยไม่ได้รายงานเหตุการณ์ต่อเจ้าหน้าที่ และในปี 2564 มีเพียง 20% ของผู้ถูกคุกคามทางเพศเท่านั้นที่นำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นผลจากความกลัวในการถูกเปิดเผยตัวตนและความอับอาย
.
น.ส.ภคมน กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลสถิติข้างต้นจะเห็นได้ว่าการคุกคามทางเพศในสังคมไทยเป็นปัญหาที่ขยายวงกว้างและมีความซับซ้อนหลายมิติมากขึ้น จึงไม่สามารถตีความจำกัดไว้แค่การกระทำต่อเนื้อตัวร่างกายอย่างที่กฎหมายปัจจุบันระบุไว้ได้ นั่นจึงเป็นที่มาที่พรรคก้าวไกลเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับนี้ เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ข้างต้น ได้แก่
.
1. แก้ไขบทนิยามคำว่า “คุกคามทางเพศ” ให้ครอบคลุมและสอดรับกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป โดยให้หมายถึงการกระทําอันไม่พึงปรารถนาทางเพศ การร้องขอที่ไม่พึงปรารถนาเพื่อความต้องการทางเพศต่อผู้ถูกคุกคาม หรือการกระทําอื่นที่ไม่พึงปรารถนาอันเกี่ยวกับเรื่องทางเพศที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกคุกคาม ซึ่งในสถานการณ์นั้นๆ บุคคลทั่วไปอาจคาดหมายได้ว่าเป็นการคุกคามผู้ถูกกระทํา ทําให้ผู้ถูกกระทําอับอาย เสื่อมเสียเกียรติ หรือทําให้ผู้ถูกกระทํากลัว
.
2. กำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัย โดยให้ศาลมีอำนาจกำหนดคำสั่งงดเว้นการกระทำ ในกรณีที่เห็นว่ามีความจำเป็นต้องคุ้มครองผู้อื่นจากการถูกรบกวน ข่มขู่ คุกคาม หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญทางเพศ ศาลอาจสั่งห้ามผู้นั้นกระทำการใดๆ ต่อผู้ถูกกระทำในระยะเวลาที่กำหนด
.
3. กำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศเป็นระดับความผิด โดยระดับแรก หากเป็นการแสดงออกทางวาจา กิริยาท่าทาง และการสัมผัสทางร่างกายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือทำให้รู้สึกไม่พึงปรารถนา ให้ระวางลงโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท แต่หากยกระดับขึ้นไปเป็นการคุกคามทางเพศโดยเฝ้าติดตาม กระทํากับเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี หรือกระทําโดยอาศัยความไว้วางใจหรือมีความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เหนือกว่า เช่น เป็นผู้บังคับบัญชา นายจ้าง คนในครอบครัว รวมถึงในสถานศึกษา กำหนดให้ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท
.
4. เพิ่มฐานความผิดการคุกคามทางเพศผ่านช่องทางการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นรู้สึกหวาดกลัว ถูกข่มขู่ ถูกคุกคาม หรือเกิดความกังวลใจ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความเดือดร้อนรำคาญใจ ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท และหากเป็นการกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษมากขึ้นเป็นสองเท่า
.
ขณะที่ นายเอกราช อุดมอำนวย สส.กรุงเทพฯ เขต 10 พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายสรุปร่างฯ ในส่วนของพรรคก้าวไกล โดยระบุว่าจากการอภิปรายวันนี้ สมาชิกส่วนใหญ่อภิปรายไปในแนวทางสนับสนุนคล้ายคลึงกัน ถึงแม้จะมี สส.บางส่วนกังวลว่าการกำหนดนิยามที่กว้างไปอาจจะทำให้เกิดการกล่าวหาเพื่อกลั่นแกล้งผู้บริสุทธิ์หรือไม่ แต่ตนเห็นว่าในประมวลกฎหมายอาญาเองได้มีการวางหลักป้องกันการฟ้องเท็จอยู่แล้ว อีกทั้งมาตรการต่างๆ ที่กฎหมายวางไว้ก็ไม่ได้ต้องการให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษเท่านั้น แต่เพื่อป้องปรามให้ผู้คนในสังคมตระหนักรู้ และมีความสำนึกรับผิดต่อบุคคลอื่นด้วย
.
นายเอกราช กล่าวต่อไปว่า อย่างที่เพื่อน สส.หลายคนได้อภิปรายว่าการพิสูจน์ความผิดในกรณีการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องที่ยากและละเอียดอ่อน งานวิจัยหลายฉบับก็ชี้ไปในทางเดียวกันว่าการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องที่เหยื่อต้องต่อสู้ภายใต้กฎหมายที่ไม่เป็นมิตร อีกทั้งยังมีรายงานผลการวิจัยออกมาในแนวทางเดียวกันว่าร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องสมควรจะต้องแก้ไข เพื่อยกระดับเรื่องการคุกคามทางเพศให้ชัดเจน
.
ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาของพรรคก้าวไกลจึงคิดและออกแบบมาบนพื้นฐานของการคุ้มครองผู้เสียหายอย่างรอบคอบ โดยให้มีการปกป้องสิทธิของผู้เสียหาย กำหนดโทษบทฉกรรจ์ในกรณีที่ผู้ก่อเหตุมีอำนาจเหนือผู้กระทำหรือก่อเหตุกับผู้มีอายุต่ำกว่า 15 ปี เพิ่มมาตรการคุ้มครองผู้ถูกกระทำโดยให้ศาลออกคำสั่งงดเว้นการกระทำได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ เพราะเดิมกฎหมายเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศอยู่ในบทลหุโทษ ทำให้สามารถดำเนินคดีได้ยาก
.
นายเอกราช กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนเชื่อว่ามาตรการที่อยู่ในร่างกฎหมายของทั้งพรรคภูมิใจไทยและพรรคก้าวไกล น่าจะเป็นร่างฯ ที่เพื่อนสมาชิก สส.เห็นไปในทิศทางเดียวกันได้ ตนขอให้สมาชิกฯ ทุกคนช่วยกันผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาครั้งนี้ให้สำเร็จ เพื่อขจัดการคุกคามทางเพศในสังคมไทยทุกมิติต่อไป