ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ทลายเครือข่ายหลอกลงทุนเทรดหุ้นทองคำ-น้ำมัน ตุ๋นเหยื่อโอนเงิน พบเงินหมุนเวียนกว่า 16,000 ล้านบาท
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) จับกุมตัว
นายภัทรกษิณ ,นายปรัชญา กับพวกรวม 7 ราย กระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบ และร่วมกันฟอกเงิน”
สืบเนื่องจาก เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 มีผู้เสียหายได้เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ กรณีมีกลุ่มคนร้าย ได้สร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอมขึ้นมา โดยนำภาพของบุคคลอื่นที่มีฐานะดีและมีความน่าเชื่อถือ ทักแชทมาพูดคุยกับผู้เสียหาย เพื่อสร้างความสนิทสนม จนกระทั่งผู้เสียหายเริ่มไว้วางใจ คนร้ายจึงได้ชักชวนลงทุนเทรดหุ้นทองคำและหุ้นน้ำมัน ผ่านแอปพลิเคชันชื่อ “AVATRADE” (ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ปลอมขึ้นมาเพื่อเลียนแบบแอปพลิเคชันที่มีอยู่จริง) ช่วงแรกได้ผลตอบแทนจริง เมื่อผู้เสียหายเริ่มลงทุนในจำนวนมากขึ้น ก็ไม่สามารถถอนเงินได้ รวมเป็นเงินที่เสียหาย กว่า 220,000 บาท
จากการสืบสวน พบว่ากลุ่มคนร้าย ได้ใช้บัญชีม้าในการรับโอนเงินของผู้เสียหาย และมีการยักย้ายถ่ายเทเงินที่ได้จากการกระทำความผิดไปยังบัญชีม้าอื่นๆ ทำการแปลงสภาพเงินได้จากการหลอกลวงให้กลายเป็นเงินดิจิทัล (USDT) ผ่านแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนเหรียญดิจิทัล จากนั้นเงินดิจิทัลจะถูกโอนต่อไปอีกหลายทอดไปยังกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้ทำการตรวจยึดทรัพย์สินจำนวนหลายรายการ อาทิ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (PC) จำนวน 10 เครื่อง, คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก จำนวน 2 เครื่อง, โทรศัพท์มือถือ จำนวน 53 เครื่อง (ผูกแอปพลิเคชันธนาคารพร้อมใช้งาน จำนวน 42 เครื่อง) , เครื่องใหม่ จำนวน 11 เครื่อง, สมุดบัญชีธนาคาร จำนวน 1,113 เล่ม, บัตรกดเงินสด (ATM) จำนวน 1,065 ใบ และกล่องโทรศัพท์เปล่า จำนวน 77 กล่อง
สอบถามเบื้องต้น นายปรัชญาฯ ให้การยอมรับว่า ตนเองได้ร่วมกับนายภัทรกษิณฯ ในการจัดหาบัญชีธนาคารและบัญชีเทรดคริปโตม้า โดยได้รับการว่าจ้างจาก นายทุนชาวมาเลเซีย ให้ทำการจัดหาบัญชีม้า พร้อมผูกแอปพลิเคชันธนาคารและแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนเหรียญดิจิทัลไว้ในโทรศัพท์มือถือ ในลักษณะพร้อมใช้งาน จากนั้นส่งต่อไปยังแก๊งคอลเซนเตอร์ทั้งในและต่างประเทศ โดยนายทุนชาวมาเลเซียจะจ่ายค่าจ้างเป็นเงินบาท และเงินดิจิทัล (USDT) คิดเป็นเงินประมาณ 10,000 บาท ต่อบัญชีม้าหนึ่งบัญชี มีเงินหมุนเวียนในกว่า 16,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังได้ตรวจสอบพบว่า มีผู้เสียหาย ที่ถูกหลอกลวงให้ลงทุนในกรณีเดียวกัน อีกว่า 23 ราย มูลค่าความเสียหายราม 14 ล้านบาท และยังพบว่ามีกลุ่มนายทุนต่างชาติ ที่เชื่อว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการจัดหาบัญชีม้า ที่เกี่ยวข้อง อีก 9 ราย จะได้ทำการสืบสวนเพื่อเอาตัวมารับโทษตามกฎหมายต่อไป