นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชนและประชาชน ที่มีต่อ “วันภาษาไทยแห่งชาติ ปี 2567” จากกลุ่มตัวอย่างเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 22,109 คน ผลโพลชี้ว่าเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ คิดว่าภาษาไทยมีความสำคัญ อันดับแรก คือ เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ร้อยละ 71.22 เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ร้อยละ 49.58 และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาความรู้ ความคิด วิเคราะห์ วิจารณ์ และสร้างสรรค์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ร้อยละ 44.97 ขณะที่เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าแหล่งเรียนรู้หรือสถานที่ช่วยส่งเสริมและอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยในยุคปัจจุบัน คือ โรงเรียน/มหาวิทยาลัย/สถานศึกษา ร้อยละ 67.20 หอสมุดแห่งชาติ ร้อยละ 53.74 และพิพิธภัณฑ์ ร้อยละ 42.33
ทั้งนี้ เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ คิดว่าบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน เป็นอันดับแรก คือ ครูอาจารย์ ร้อยละ 58.71 อันดับ 2 ผู้ประกาศข่าว ร้อยละ 54.27 และอันดับ 3 พิธีกร ร้อยละ 51.16 ขณะที่เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ คิดว่าแหล่งที่พบเห็นการใช้ภาษาไทยที่สะกด/ออกเสียงผิดเพี้ยนไป หรือคำแปลกๆ บ่อยที่สุด คือ การคุยไลน์ คอมเมนต์ ตามเพจต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ฯลฯ ร้อยละ 72.92 การพูดคุยตามๆ กันในหมู่เพื่อนๆ ร้อยละ 56.32 โซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ ร้อยละ 52.79 นอกจากนี้ยังคิดว่าปัญหาในการใช้ภาษาไทยที่มักจะพบเจอเป็นประจำ คือ เขียนผิด ร้อยละ 70.65 รองลงมา คือ อ่านผิด ร้อยละ 53.76 และพูดผิด ร้อยละ 51.20 นอกจากนี้เมื่อสอบถามเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ คิดว่าทำอย่างไรจึงจะใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารทำความเข้าใจให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ผลโพลปรากฎว่า อันดับ 1 คือ การพูด อ่าน เขียน ในชีวิตประจำวันต้องใช้ให้ถูกต้อง ร้อยละ 72.55 อันดับ 2 เลือกใช้คำที่ถูกต้อง เหมาะสมกับสถานการณ์ และกาลเทศะ ร้อยละ 54.63 อันดับ 3 การสื่อสารที่ชัดเจน เข้าใจง่าย ถูกต้องตรงประเด็น ร้อยละ 50.84
ขณะที่ผลสำรวจเผยว่าเด็ก เยาวชน และประชาชน มีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะด้านภาษาไทยให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชน เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของการใช้ภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติไทย อาทิ การสร้างพื้นที่เรียนรู้ โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมภาษาไทยหลากหลายรูปแบบ เช่น นิทรรศการ การประกวด การแข่งขัน ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ การผลิตสื่อสร้างสรรค์ที่เข้าถึงง่าย เช่น วิดีโอ เกม เพลง ปลูกฝังความรักภาษาไทยตั้งแต่เด็ก ให้ภาครัฐสนับสนุนการวิจัย ศึกษาพฤติกรรมการใช้ภาษาไทย เพื่อพัฒนาแนวทางส่งเสริมแต่ละกลุ่มเป้าหมาย การสร้างเครือข่าย จับมือหน่วยงานต่างๆ ส่งเสริมภาษาไทยให้เข้มแข็งมากขึ้น เสนอให้ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการเรียนรู้ภาษาไทย เช่น แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ เพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายและสะดวก จัดกิจกรรมกระตุ้นให้ใช้ภาษาไทยอย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจ ยกย่องบุคคลต้นแบบที่ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องและสร้างสรรค์ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น
“กระทรวงวัฒนธรรมตระหนักถึงการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง เหมาะสม เพื่อร่วมกันสร้างค่านิยมและจิตสำนึก พร้อมทั้งส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนเห็นความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆมาอย่างสม่ำเสมอ อาทิ จัดทำหนังสือคำกลอน การประกวดเพลงแรพใช้ภาษาไทยอย่างสร้างสรรค์ จัดทำวีดิทัศน์ส่งเสริมการใช้ภาษาไทย เป็นต้น อีกทั้งในทุกๆ ปีกระทรวงวัฒนธรรมจัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติ มอบรางวัลเชิดชูเกียรติปูชนียบุคคล ผู้ใช้ภาษาไทย-ไทยถิ่นดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ยกย่องบุคคลต้นแบบที่ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องและสร้างสรรค์ เป็นขวัญกำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นอีกด้วย และเนื่องในวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ มาร่วมรณรงค์ รักษาภาษาไทย ให้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติไทยสืบไป” รมว.วธ. กล่าว