“คลัง” ดูดแรงงานหัวกะทิกลับประเทศ เสนอลดภาษีเงินได้เหลือ 17%

wewy (5)-min

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โจทย์อีกข้อหนึ่งคือการดูดแรงงานศักยภาพสูงทั่วโลกเข้าไทย รวมทั้งคนไทยศักยภาพสูง (หัวกะทิไทย) ที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ คนกลุ่มนี้เก่งแต่ปัจจุบันทำงานต่างประเทศ ไม่ได้ช่วยสร้างเศรษฐกิจไทย ถ้าดึงกลับมาจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย และยังสร้างรายได้ภาษีที่แต่ก่อนไทยไม่เคยได้รับอีกด้วย

วันนี้ ครม. อนุมัติมาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการด้านภาษีดูดหัวกะทิไทยที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้กลับบ้าน มาทำงานในไทย ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งผู้ถูกจ้างเองและนายจ้าง ดังนี้

สิทธิประโยชน์
1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ลูกจ้าง)
สำหรับลูกจ้างตามคุณสมบัติที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการหักภาษี ณ ที่จ่ายสูงกว่าร้อยละ 17 ให้ลดเหลือร้อยละ 17 ของเงินได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายกำหนด โดยต้องเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึง 31 ธันวาคม 2572
2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล (นายจ้าง)
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายกำหนด สามารถหักรายจ่ายที่จ่ายเงินเดือนตามสัญญาจ้างแรงงานของลูกจ้างตามคุณสมบัติ ระหว่างวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 ได้จำนวน 1.5 เท่า

คุณสมบัติ
1. สัญชาติไทย มีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
2. ทำงานในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 2 ปี
3. กลับเข้าไทยตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2568
4. เป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายกำหนด และได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
5. ไม่เคยทำงานในไทยในปีภาษีที่มีการเริ่มใช้สิทธิลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้
6. ต้องไม่ได้เข้ามาอยู่ไทยก่อนปีภาษีที่ใช้สิทธิอย่างน้อย 2 ปี หรือถ้าอยู่ต้องอยู่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมทั้งหมดไม่ถึง 180 วันในปีภาษีนั้นๆ
7. ในปีภาษีที่ใช้สิทธินั้น ต้องอยู่ไทยรวมเวลาทั้งหมดไม่น้อยกว่า 180 วัน เว้นแต่ปีภาษีแรกและปีภาษีสุดท้าย ที่ใช้สิทธิจะอยู่ในไทยน้อยกว่า 180 วันก็ได้

 

ประเภท : เศรษฐกิจ
แท็ก