สำนักข่าวซินหัว อ้างรายงาน “ดินดวงจันทร์” ซึ่งเป็นตัวอย่างจากดวงจันทร์ที่ภารกิจฉางเอ๋อ-5 (Chang’e-5) ของจีนนำกลับมายังโลก เป็นหนึ่งในไฮไลท์ของงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนด้วยพลังสหวิทยาการ หรืออว.แฟร์ ซึ่งปิดฉากไปในกรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์ (28 ก.ค.) โดยถูกนำมาจัดแสดงภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) และองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA)
ตัวอย่างดินขนาด 75 มิลลิกรัมในบรรจุภัณฑ์คริสตัลทรงกลมหมุนได้ ที่มีชื่อว่า “ดวงจันทร์ส่องแสงมาที่ฉัน” (The Moon Shines Bright On Me) เชื้อเชิญให้ผู้เข้าชมมาร่วมชมพื้นผิวดวงจันทร์ระยะประชิดผ่านกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจให้นักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
หนึ่งในผู้ชมที่เป็นหนูน้อยชั้นประถมวัย 7 ขวบ เผยกับสำนักข่าวซินหัวว่าเธอรู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้มาดูวัสดุลึกลับนี้เป็นครั้งแรก สีของตัวอย่างจากดวงจันทร์นั้นไม่ธรรมดาเพราะดูคล้ายกับทรายมากกว่าดิน
ตัวอย่างที่นำมาจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของตัวอย่างที่เก็บรวบรวมโดยยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-5 ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจที่ซับซ้อนและท้าทายที่สุดในประวัติศาสตร์การบินและอวกาศของจีน
นายศุภวัฒน์ โจว เจ้าหน้าที่นิทรรศการ ระบุว่าโอกาสที่จะได้เข้าใกล้ดวงจันทร์มากกว่าที่เคยดึงดูดผู้คนที่มีภูมิหลังแตกต่างกันให้มาเยี่ยมชมนิทรรศการนี้ โดยเฉพาะเด็กๆ พร้อมเสริมว่าตัวเขาประทับใจที่ได้เห็นนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสายตาและการได้ยินเรียนรู้เกี่ยวกับนิทรรศการผ่านการตีความและอธิบายจากครู สิ่งนี้สามารถจุดประกายความสนใจแรงกล้าของนักเรียนกลุ่มนี้ในด้านดาราศาสตร์ อวกาศ และเทคโนโลยี
นายศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันฯ ระบุว่านิทรรศการครั้งนี้ยังจัดแสดงเทคโนโลยีขั้นสูงที่ไทยพัฒนาขึ้นเพื่อการวิจัยทางดาราศาสตร์ อาทิ เครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อสังเกตรังสีคอสมิกและสภาพอากาศในอวกาศจากมุมมองของดวงจันทร์ ซึ่งจะถูกขนส่งสู่อวกาศบนยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-7 ของจีนด้วย
เมื่อเดือนเมษายน จีนและไทยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจสองฉบับว่าด้วยความร่วมมือด้านการสำรวจและการใช้งานอวกาศส่วนนอกอย่างสันติ รวมถึงบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ
นายศรัณย์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่าไทยรอคอยที่จะได้รับตัวอย่างจากดวงจันทร์จากองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน เพื่อนำมาทดสอบในห้องปฏิบัติการสำหรับพัฒนาเครื่องมือที่เหมาะสมในการสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ในอนาคต โดยการร่วมมือกับจีนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาขีดความสามารถของไทย และผลักดันให้ศักยภาพของเราทัดเทียมกลุ่มผู้นำระดับโลก