จากกรณีที่ นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช อ้างว่ากรมราชทัณฑ์ ได้คำนวณวันพักการลงโทษของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่าง การพักโทษและเตรียมพ้นโทษในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ คลาดเคลื่อนหรือไม่ โดยหากกรมราชทัณฑ์นับวันพักการลงโทษผิด ใครจะรับผิดชอบ และจะมีความผิดตามมาตรา 157 หรือไม่นั้น
ล่าสุด ส่วนประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์ ได้เผยแพร่เอกสาร ชี้แจงว่า นายทักษิณ ต้องโทษจำคุกตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ต่อมา ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษให้เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี นับตั้งแต่ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 จึงจะพ้นโทษ จำคุกในวันที่ 31 สิงหาคม 2567
สำหรับประเด็นนับวันพัก การลงโทษ ในหลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษกรณีพิเศษ กำหนดเงื่อนไขว่า ต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 ของกำหนดโทษแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่านั้น โดยกรณีนี้ จะเริ่มนับวันต้องโทษ ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 เป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือ 180 วัน และปล่อยตัวคุมประพฤติในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ถูกต้องแล้ว
ทั้งนี้การคำนวณระยะเวลาจำคุก 6 เดือนนั้น เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 ซึ่งบัญญัติว่า “ในการคำนวณระยะเวลาจำคุก ให้นับวัน เริ่มจำคุก รวมคำนวณเข้าด้วย และให้นับเป็นหนึ่งวันเต็มโดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนชั่วโมง ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้น กำหนดเป็นเดือน ให้นับสามสิบวัน เป็นหนึ่งเดือน ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ เมื่อ ผู้ต้องคำพิพากษาถูกจำคุก ครบกำหนดแล้วให้ปล่อยตัวในวันถัดจากวันที่ครบกำหนด” กรมราชทัณฑ์ จึงขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
ทันใดนั้นนายเทพไท ได้โพสต์เฟซบุ๊ก โต้กลับในประเด็นเรื่องดังกล่าวว่า “เมื่อผมได้ตั้งข้อสงสัยการนับวันพักโทษของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่เปลี่ยนแปลงกำหนดวันพ้นโทษจาก วันที่ 22 สิงหาคม 2567 เป็นวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ว่า มีความคลาดเคลื่อนหรือไม่ จากคำชี้แจงของกรมราชทัณฑ์ปรากฏว่าทางกรมฯใช้หลักการนับวันพักโทษตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ไม่ได้นับตั้งแต่วันที่ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ จึงทำให้วันพักโทษของคุณทักษิณ ตรงกับวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ผมขอขอบคุณในคำชี้แจงครับ”