“ทักษิณ” ไม่อยู่ในบัญชีอภัยโทษ “ราชทัณฑ์” ชี้พ้นโทษสิ้น ส.ค.อยู่แล้ว

ja(12)-min

นพ.สมภพ สังคุตแก้ว รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์ เผยการประชุม ครม. วานนี้ (13 ส.ค.67) ซึ่งกระทรวงยุติธรรมเสนอวาระจร ทราบว่าเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป อภัยโทษหมู่เนื่องในวาระมหามงคล ไม่ใช่หลักเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย โดยปกติแล้วจะมีการกำหนดรายละเอียดต่างๆ ลงในประกาศพระราชกฤษฎีกา โดยระบุเป็นรายมาตราซึ่งจะแตกต่างกันออกไป

ทั้งนี้ยังไม่ทราบจำนวนผู้ต้องขังที่มีเกณฑ์ได้รับการอภัยโทษเป็นการทั่วไป เนื่องจากขณะนี้เรือนจำและทัณฑสถานต่างๆ ยังอยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อผู้ต้องขังเพื่อส่งมายังกรมราชทัณฑ์ให้รับทราบ อีกทั้งในที่ประชุม ครม.ยังไม่ปรากฏรายละเอียดของประกาศกฤษฎีกา ว่าจะมีการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปหรือไม่

ส่วนเกณฑ์การอภัยโทษเป็นการทั่วไปในชั้น ครม. ที่ใช้พิจารณากันมักจะมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขังลงในกฤษฎีกา ดังนี้

– ต้องเป็นผู้ต้องขังโทษเหลือน้อยไม่ถึงปี
– เป็นผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย
– เป็นผู้ต้องขังที่รับโทษจำคุกมาแล้ว 1 ใน 3
– เป็นผู้ต้องขังชั้นดี
– เป็นผู้ต้องขังที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีแนบท้าย เป็นต้น

จากนั้นกรมราชทัณฑ์โดยเรือนจำและทัณฑสถาน จึงจะนำคุณสมบัติที่ปรากฏในกฤษฎีกาไปทำการค้นหาผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อดำเนินการตามสิทธิประโยชน์ของผู้ต้องขัง ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยตัวพ้นโทษ หรือการลดโทษ

ส่วนรายคดีที่ได้รับการยกเว้นไม่เข้าหลักเกณฑ์อภัยโทษเป็นการทั่วไป ได้แก่ คดียาเสพติดร้ายแรง คดีเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย (คดีอุกฉกรรจ์) คดีที่ผู้ต้องขังรายนั้นๆ ยังอยู่ระหว่างกระบวนการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา

สำหรับกรณีของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเข้าเกณฑ์พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปหรือไม่ นพ.สมภพ ระบุว่านายทักษิณ กำลังจะครบกำหนดพักการลงโทษ และจะพ้นโทษในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งอภัยโทษเป็นการทั่วไปจะไม่มีผลใดกับทักษิณ

นพ.สมภพกล่าวด้วยว่า พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปในแต่ละครั้งจะมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ก็อาจมีความคล้ายเดิมอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องขังโทษประหารชีวิตส่วนใหญ่ จะเลือกใช้วิธีการเขียนทูลเกล้าฯ ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะรายมากกว่า ทั้งนี้ ถ้าผู้ต้องขังโทษประหารยังมีคดีอื่นๆ ที่อยู่ในชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกา ก็จะไม่สามารถยื่นทูลเกล้าฯ ขออภัยโทษได้

ส่วนกรณีของบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกศาลตัดสินจำคุกคดีจำนำข้าว มีเกณฑ์อาจได้รับการอภัยโทษเป็นการทั่วไปหรือไม่นั้น ต้องไปดูว่าบุญทรงเหลือโทษจำคุกกี่ปี แต่หากมีคุณสมบัติ แต่ถูกมองว่าเป็นคดีความมั่นคงก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์

 

แท็ก