คนรุ่นใหม่นับร้อย ร่วมพลิกวิกฤต เป็นโอกาสพัฒนาบ้านเกิด ตบเท้าสมัครโครงการ “Movement คนรุ่นใหม่” #คนรุ่นใหม่คืนถิ่น 2 สสส. สานพลัง พอช. มุ่งกระจายโอกาสทั่วถึง ดึง คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมเดินหน้าสร้างสังคมสุขภาวะยั่งยืน
(20 ส.ค.67) ที่ผ่านมา ที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในพิธีเปิดเวทีปฐมนิเทศ โครงการ “Movement คนรุ่นใหม่” #คนรุ่นใหม่คืนถิ่น 2 ว่า สสส. ดำเนินงานผ่านแผนหลัก 15 แผน 1 ในแผนที่สำคัญคือ แผนสร้างสรรค์โอกาสสร้างเสริมสุขภาวะ ที่มีพันธกิจในการเปิดโอกาสเข้าถึงการสร้างเสริมสุขภาพ กระจายในพื้นที่ต่างๆ ทุกจังหวัดทั่วประเทศกว่า 2,000 โครงการต่อปี ทำให้ทุกชีวิตได้เข้าถึงทุนการสร้างเสริมสุขภาวะ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพอย่างสร้างสรรค์ ในการนี้ สสส. ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) พัฒนาโครงการ “Movement คนรุ่นใหม่” เพื่อยกระดับและเปิดโอกาส การส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมพัฒนาและแก้ไขปัญหาสุขภาพในชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง สำหรับคนรุ่นใหม่ ชุมชน และสังคม โดยมีภาคีเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทำหน้าที่เสริมพลังเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดเครือข่ายคนรุ่นใหม่ทั้งในระดับพื้นที่ จังหวัด และเครือข่ายระดับประเทศ เกิดเป็น Movement คนรุ่นใหม่นำไปสู่การขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะหรือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
“#คนรุ่นใหม่คืนถิ่น 2 มีคนรุ่นใหม่สมัครเข้าร่วมกว่า 200 คน ผ่าน 67 โครงการ ครอบคลุมทุกภูมิภาคในไทย ได้แก่ ภาคเหนือ 37 โครงการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 โครงการ ภาคใต้ 10 โครงการ และภาคกลาง 6 โครงการ ภายใต้การขับเคลื่อนงาน 5 ประเด็น 1.การส่งเสริมเศรษฐกิจและรายได้ 2.การศึกษาในกลุ่มเด็กและเยาวชน 3.สุขภาวะทางกายและใจ 4.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 5.การจัดการสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยการจัดเวทีปฐมนิเทศ ครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความร่วมมือให้เกิดเครือข่ายคนรุ่นใหม่ ร่วมพัฒนาพื้นที่อย่างสร้างสรรค์ภายใต้ความเชื่อมั่นในทักษะและพลังของคนรุ่นใหม่ ยกระดับให้เกิดเป็นต้นแบบของการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะเพื่อขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ สร้างสรรค์โอกาส” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบัน พอช. กล่าวว่า #คนรุ่นใหม่คืนถิ่น 1 มีคนรุ่นใหม่เข้าร่วมจาก 32 จังหวัด 72 โครงการ เกิดการเชื่อมโยงกลไกคนรุ่นใหม่และภาคีพัฒนาในระดับภาค ผ่านการจัดกิจกรรมย่อยในระดับพื้นที่ เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เวทีพัฒนาศักยภาพ ผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์ เช่น โครงการที่ใช้ระบบเศรษฐกิจชุมชนเป็นฐาน ผ่านการรวมกลุ่มในพื้นที่ ออกแบบพื้นที่เป็น “ตลาดสร้างสรรค์” ในโรงเรียนร้างหรือโรงเรียนที่ปิดทำการมาใช้ประโยชน์กับชุมชนได้ “ตลาดกลางใจ๋บ้าน” เป็นศูนย์รวมของจิตใจของการมาทํากิจกรรมร่วมกัน นำความรู้ และความสามารถของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่มาปรับใช้ในการพัฒนาพื้นถิ่นของตนเอง เพื่อส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว และการพัฒนาอาชีพต่างๆ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้สร้างสรรค์งานภายใต้ความท้าทายและบริบทที่แตกต่างกัน #คนรุ่นใหม่คืนถิ่น 2 มุ่งเป้าหมายให้คนรุ่นใหม่เป็นตัวตั้งในการพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วม โดยการนำความร่วมมือของหน่วยงานทั้ง 2 หน่วยงานมาร่วมในการพัฒนา สร้างศักยภาพ และสนับสนุนงบประมาณสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้สามารถลงไปพัฒนาถิ่นของตนเอง และสอดคล้องกับระบบกลไกการทำงานของคนรุ่นใหม่ต่อไป