“พรรคประชาชน” แนะ 3 มาตรการ เตรียมรับมือโรคเอ็มพอกซ์ระบาด

wewy (4)-min

“กัลยพัชร” แนะ 3 มาตรการเตรียมรับมือโรคเอ็มพอกซ์ระบาด เร่งนำเข้าวัคซีนราคาจับต้องได้ พัฒนาวัคซีน-ยาในประเทศ ตรวจคัดกรองเชิงรุกระดับจังหวัด
.
น.ส.กัลยพัชร รจิตโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และรองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่เมื่อวานนี้ (22 สิงหาคม) กรมควบคุมโรคเผยผลตรวจจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันพบเชื้อโรคเอ็มพอกซ์ (Mpox) สายพันธุ์ Clade 1 จากผู้ป่วยชาวยุโรปที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นผู้ป่วยรายแรกที่ตรวจวินิจฉัยพบในประเทศไทยและในทวีปเอเชีย รวมถึงเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดง่ายและมีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์ Clade 2 ที่พบในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565
.
น.ส.กัลยพัชร กล่าวว่า ถึงแม้ขณะนี้จะพบผู้ป่วยโรคเอ็มพอกซ์สายพันธุ์ Clade 1 ในประเทศเพียงรายเดียว โดยกรมควบคุมโรคได้เฝ้าระวังและติดตามอาการของผู้สัมผัสใกล้ชิดทั้ง 43 คน และวางมาตรการคัดกรองสำหรับผู้ที่เดินทางมาจาก 42 ประเทศเขตติดโรคแล้ว แต่ตนต้องขอให้รัฐบาลไม่ประมาท เพราะหากดูบทเรียนจากประเทศฟิลิปปินส์ การแพร่ระบาดของโรคเอ็มพอกซ์สายพันธุ์อื่นๆ ก็ไม่ได้เกิดจากผู้ป่วยที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกาเท่านั้น รวมถึงจากสถิติยังพบข้อน่ากังวลว่า สายพันธุ์ Clade 1 พบการติดเชื้อมากขึ้นในเด็ก เนื่องจากสามารถติดต่อกันได้ผ่านฝอยละอองหรือการสัมผัสวัตถุที่เป็นพาหะ (Formites) ขณะที่สายพันธุ์ Clade 2 นั้นติดยากกว่า และส่วนใหญ่ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์
.
ด้วยเหตุนี้ น.ส.กัลยพัชร จึงขอเสนอ 3 มาตรการเพิ่มเติมต่อรัฐบาล เพื่อเตรียมรับมือหากสถานการณ์การแพร่ระบาดทวีความรุนแรงขึ้น ได้แก่
.
1. เร่งนำเข้าวัคซีนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องการรับวัคซีนในราคาที่จับต้องได้ โดยปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคเอ็มพอกซ์มีราคาค่อนข้างสูง สำหรับฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังราคาเข็มละ 8,500 บาท และต้องฉีด 2 ครั้ง ทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้
.
2. ริเริ่มพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสสำหรับรักษาโรคเอ็มพอกซ์ในประเทศไทย เพราะโรคนี้เกิดขึ้นมานานแล้วในทวีปแอฟริกา การมีวัคซีนและยาเป็นของตัวเองก็จะเป็นเครื่องมือในการป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงทีต่อสถานการณ์ โดยประเทศไทยมีหน่วยงานพัฒนาวัคซีนอยู่แล้ว ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
.
3. ตรวจคัดกรองโรคเอ็มพอกซ์ทุกสายพันธุ์ในเชิงรุก โดยกระจายชุดตรวจให้โรงพยาบาลศูนย์ในแต่ละจังหวัดสามารถตรวจคัดกรองได้เอง ไม่ต้องส่งเข้าส่วนกลาง
.
ทั้งนี้ น.ส.กัลยพัชร กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลควรรีบตั้งคณะรัฐมนตรีให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพราะถึงแม้ขณะนี้จะมีคณะรัฐมนตรีรักษาการ แต่ก็ไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้เต็มประสิทธิภาพ การจัดการกับโรคเอ็มพอกซ์สายพันธุ์ใหม่จำเป็นต้องมีผู้รับผิดชอบในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่มีอำนาจเต็ม

 

แท็ก