ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วม อย. ตัดตอนแหล่งจัดเก็บและจำหน่ายยากันยุงที่ใช้กับเครื่องไฟฟ้าจากจีน ค้น 3 จุด ตรวจยึดของกลาง กว่า 7,300 ชิ้น มูลค่ากว่า 2.5 ล้านบาท
.
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พร้อมด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันตรวจค้นตรวจค้น 3 จุด สามารถตรวจยึดผลิตภัณฑ์กันยุงที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่มีฉลากภาษาไทยและไม่มีเลขทะเบียนผลิตภัณฑ์ จำนวน 5,077 ขวด หัวปลั๊กไฟฟ้าใช้กับน้ำยากันยุง จำนวน 2,295 ชิ้น
.
1. สถานที่จัดเก็บและกระจายสินค้า โดยนำหมายค้นของศาลอาญาพระโขนง เข้าตรวจค้นอาคารพาณิชย์ภายในซอยสุขุมวิท 54 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร
2. สถานที่จัดเก็บและกระจายสินค้า โดยนำหมายค้นของศาลแขวงธนบุรี เข้าตรวจค้นอาคารพาณิชย์ บริเวณตลาดสำเพ็ง 2 ถนนกัลปพฤกษ์ แขวงบางแค เขตบางแค กรุงเทพมหานคร
3. สถานที่จัดเก็บและกระจายสินค้า โดยนำหมายค้นของศาลแขวงธนบุรี เข้าตรวจค้นโกดังเก็บสินค้าจำหน่ายสินค้า ภายในซอยเทียนทะเล 20 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
.
สืบเนื่องจาก เจ้าหน้าที่ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ตรวจสอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กันยุงพร้อมอุปกรณ์ไฟฟ้าส่วนควบ ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเลขทะเบียนผลิตภัณฑ์ ผ่านแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ ซึ่งผลิตภัณฑ์กันยุงที่ อย.ได้ตรวจเฝ้าระวังตรวจพบสาร เมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin) และไดมีฟลูทริน (Dimefluthrin) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethriods) ซึ่งจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 (วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน ที่ต้องขออนุญาตนำเข้า ผลิต และขอขึ้นทะเบียน) ซึ่ง อย. ไม่เคยอนุญาตให้นำเข้า ผลิต หรือขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่มีสารดังกล่าว จึงเป็นสารที่ยังไม่ผ่านการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ รวมถึงอัตราการใช้ที่เหมาะสม จึงอาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภคได้
.
เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้สืบสวน พบว่า ตามแพลตฟอร์มออนไลน์ ผู้ขายมักโฆษณาข้อความระบุใช้ได้กับสตรีมีครรภ์และเด็กอ่อน ไม่มีผลหรือเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง ซึ่งอาจทำให้ประชาชนหลงเชื่อเข้าใจผิดคิดว่าไม่มีสารเคมีอันตราย อีกทั้งยังราคาถูกกว่าท้องตลาด จึงเป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป โดยไม่ได้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารเคมีวัตถุอันตรายที่เป็นส่วนผสม
.
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ก.ย.67 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงร่วมกับ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย) นำหมายค้นของศาล เข้าตรวจค้นโกดังเก็บสินค้า และจุดกระจายสินค้า ในพื้นที่ เขตพระโขนง เขตบางแค และเขตบางขุนเทียน จำนวน 3 จุด ดังกล่าวข้างต้น
.
จากการสืบสวนขยายผลเพิ่มเติม พบว่า ทั้ง 3 จุด มีการนำเข้าสินค้ามาจากประเทศจีน จากนั้นนำมาเก็บไว้ที่สถานที่จัดเก็บจุดต่างๆ เพื่อรอคำสั่งซื้อ และแพ็คส่งให้ลูกค้าในประเทศไทย โดยมีการบริหารจัดการในลักษณะ “เก็บ แพ็ค ส่ง” หรือ Fulfillment โดยนำเข้ามาในราคาขวดละ 5-8 บาท แล้วนำออกขายในราคาขวดละ 10 – 20 บาท
.
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม “พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535, พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558ฯ”